เฉลยข้อสอบ แพ่ง 3 ข้อ 3 เรื่อง พินัยกรรม นางนุชกับนายมนัสอยู่กินกัน มีบุตร 2 คน..| เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

    ข้อ 3 วิชากฏหมายแพ่ง 3 มสธ จะเป็นนักกฏหมายอย่าเชื่อหรือว่าด่วนสรุปเรื่องอะไรง่ายๆ 

(อย่าพลาด! Bonus จากพี่เล้งตอนท้าย)

สวัสดีครับเพื่อนๆ ผม พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ พบกับแนวเฉลยข้อสอบเก่าของหมวดวิชากฏหมายแพ่ง 3 รหัส 41311 ครอบครัว มรดก


Tab ติดตามวิชากฏหมาย: Attorney's journey: หนทางนักกฏหมาย

โจทย์ ข้อ 3 (พินัยกรรมแบบเอกสารลับ)  

มาตราที่เกี่ยวข้องได้แก่ มาตรา 1620 , 1629 , 1633 , 1657

นางนุชกับนายมนัสอยู่กินเป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายโตและนายเล็ก นางนุชต้องการทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับโดยเขียนพินัยกรรมนั้นด้วยมือตนเอง ลงวันเดือนปี ระบุเงินสดจำนวน 200,000 บาท ให้แก่นายเล็ก และยกเงินสดจำนวน 100,000 บาท ให้แก่นายโต และลงลายมือชื่อไว้แล้วใส่ซองผิดผนึก ระหว่างทางที่ไปอำเภอพร้อมกับพยาน 2 คน นางนุชถูกรถชนตาย มรดกของนางนุชมีทั้งหมด 500,000 บาท

วินิจฉัยว่า มรดกของนางนุชตกแก่ใครบ้าง เพราะเหตุใด



👉 เทคนิคก่อนทำข้อสอบต้องเขียน Flow chart ความเชื่อมโยงของบุคคลทั้งหมดตามโจทย์ให้ครบ จากนั้นดูต่อว่ามีบทมาตราไหนที่ต้องนำมาพิจารณาตามข้อเท็จจริงตามโจทย์

ก่อนตอบทำ 3 ขั้นตอนด้านล่างนี้ก่อนครับ

1 ยกบทกฏหมายที่เข้ากับข้อเท็จ (พิจารณาข้อเท็จจริงและคำถามว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร)

2 วินิจฉัย (เรียบเรียงเนื้อความตัวบทจากข้อ 1 เข้ากับข้อเท็จจริงตามโจทย์)

3 สรุป (ฟันธงตอบคำถามให้ตรงประเด็นที่โจทย์ถาม)

แนวการตอบ

กรณีตามปัญหา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วางหลักว่า

        มาตรา 1620 วรรคสอง วางหลักไว้ว่า ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก ให้ปันส่วนที่มิได้จำนวนโดยพินัยกรรม หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย
        
        มาตรา 1629 วางหลักไว้ว่า ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดา
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา

        มาตรา 1633 วางหลักไว้ว่า ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียวทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

       มาตรา 1657 วางหลักไว้ว่า พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือ ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน

ข้อเท็จจริงตามปัญหา  นางนุชกับนายมนัสอยู่กินเป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายโตและนายเล็ก นางนุชต้องการทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับโดยเขียนพินัยกรรมนั้นด้วยมือตนเอง ลงวันเดือนปี ระบุเงินสดจำนวน 200,000 บาท ให้แก่นายเล็ก และยกเงินสดจำนวน 100,000 บาท ให้แก่นายโต และลงลายมือชื่อไว้แล้วใส่ซองติดผนึก ระหว่างทางที่ไปอำเภอพร้อมกับพยาน 2 คน นางนุชถูกรถชนตาย เช่นนี้ พินัยกรรมที่นางนุชทำมีผลสมบูรณ์ตามแบบเขียนเองทั้งฉบับ ตามมาตรา 1657 ดังนั้น นายเล็กย่อมได้รับมรดกเป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท ในฐานะผู้รับพินัยกรรม และนายโต ได้รับเงินสดจำนวน 100,000 บาท ในฐานะผู้รับพินัยกรรมเช่นกัน

มรดกของนางนุชมีทั้งหมด 500,000 บาท จำหน่ายไปโดยพินัยกรรมแล้ว 300,000 บาท จึงมีส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมอีกจำนวน 200,000 บาท ซึ่งต้องตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของนางนุช ตามมาตรา 1620 วรรคสอง คือ นายโตและนายเล็ก ซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 1629 ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากันตามมาตรา 1630 คือ คนละ 100,000 บาท

สรุป มรดกของนางนุชมีทั้งหมด 500,000 บาท ตกได้แก่

1. นายโต ในฐานะผู้รับพินัยกรรมจำนวน 100,000 บาท และในฐานะทายาทโดยธรรมอีกจำนวน 100,000 บาท

2. นายเล็ก ในฐานะผู้รับพินัยกรรมจำนวน 200,000 บาท และในฐานะทายาทโดยธรรมอีกจำนวน 100,000 บาท

***

ข้อสังเกตุ

เพื่อนๆนักศึกษาทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้นับว่าโชคดีมากครับ เพราะพี่เล้งมีเทคนิคเพิ่มเติมป้องกันการหลงประเด็นการตอบ ได้แก่

โจทย์ข้อ 3 ของหมวดวิชาแพ่ง 3 ข้อนี้นะครับ จะเห็นว่าเกี่ยวกับพินัยกรรม ได้แก่การกำหนดเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตน

ดังนั้นเมื่อจะตอบเพื่อนต้องตอบในลักษณะการแบ่งทรัพย์สินตามข้อกฏหมายเกี่ยวกับพินัยกรรมเท่านั้น

ตามโจทย์ กล่าวถึงทรัพย์มรดก 500,000 บาทแบ่งให้ผู้รับพินัยกรรมแก่ใครบ้าง คำตอบคือตกแก่ทายาทโดยธรรมคือบุตร 2 คน เมื่อโจทย์ไม่ได้กล่าวถึงสามีของนางนุชคือนายมนัส เพื่อนๆก็ไม่ต้องกล่าวถึงนายมนัสแต่อย่างใดครับ

ช่วง Bonus จากพี่เล้ง:😇 

ข้อสอบกฏหมายแพ่ง 3 ค่อนข้างที่จะมีหลายบทมาตรา ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะสอบให้ผ่าน

พี่เล้งมีคำแนะนำดังต่อไปนี้ครับ

✅ฝึกทำข้อสอบอัตนัยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (หาข้อสอบจากลิ้งค์ของบทความของพี่เล้งได้ที่นี่)
✅ทำความเข้าใจกฏหมายมาตราหลักๆของหมวดวิชากฏหมายแพ่ง 3 ให้ครอบคลุม ได้แก่ บรรพ 5 ครอบครัว และ บรรพ 6 มรดก
✅่่ท่องมาตราเน้นเพราะเป็นตัวช่วยที่จะทำให้เราได้คะแนนมาส่วน 1 ใน 3 ส่วนของการตอบแต่ละข้อสอบ

ข้อสอบอัตนัยมี 3 ส่วน ได้แก่

1 ท่อนแรก ยกบทกฏหมาย

2 ท่อนสอง วินิจฉัย

3 ท่อนท้าย สรุปธงคำตอบ

คลิกดู 💣 รูปแบบฟอร์มการตอบ

คำคมน่าคิด ช่วยสกิดให้เราเดินต่อไป

"ไม่สำคัญว่าวันก่อนเราจะล้มเหลวเรื่องอะไร วันนี้สำคัญเพราะเราจะไม่ยอมล้มเหลวเรื่องเมื่อวานนี้"

ขอให้เพื่อนๆโชคดีและได้รับปริญญาตรีนิติศาสตร์สมดังตั้งใจครับ


ขอบคุณที่ติดตามบล็อกและเฟสบุคของ พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

สวัสดีครับ

ความคิดเห็น