เฉลยข้อสอบ แพ่ง 3 ข้อ 2 เรื่อง สิทธิหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร-นายดำนางขาวไม่ได้สมรสกัน..| เล้ง นิติศาสตร์ มสธ
ข้อ 2 วิชากฏหมายแพ่ง 3 ดูแนวการตอบที่นี่แล้วเอาไปประกอบแนวของตัวเอง เพิ่มมุมมองรอบททิศ พิชิตแพ่ง 3 ได้แน่
(อย่าพลาด! Bonus จากพี่เล้งตอนท้าย)
สวัสดีครับเพื่อนๆ ผม พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ พบกับแนวเฉลยข้อสอบเก่าของหมวดวิชากฏหมายแพ่ง 3 รหัส 41311 ครอบครัว มรดก
Tab ติดตามวิชากฏหมาย: Attorney's journey: หนทางนักกฏหมาย
โจทย์ ข้อ 2 (สิทธิหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร)
มาตราที่เกี่ยวข้องได้แก่ มาตรา 1536 , 1539 , 1541
นายดอนสมรสกับนางเดียว ตลอดห้าปีไม่มีบุตรด้วยกัน ทำให้ความคาดหวังว่าอยากมีบุตรนั้นก่อให้เกิดความไม่ราบรื่นในชีวิตคู่ นางเดียวเริ่มมีชายอื่นมาติดพัน ขณะที่นายดอนก็เริ่มไปมีสัมพันธ์กับหญิงอื่น ชีวิตคู่ก็ดำเนินเรื่อยไปจนในที่สุดนางเดียวก็ตั้งครรภ์ คลอดบุตรสาวชื่อ เด็กหญิงดาว นางเดียวรู้อยู่แก่ใจว่าเด็กหญิงดาวไม่ใช่บุตรที่เกิดจากนายดอน เป็นบุตรที่เกิดจากชายที่นางเดียวไปสัมพันธ์ด้วย ในใบสูจิบัตรนายดอนก็ไม่ยอมให้ใส่ชื่อตนเป็นบิดา จึงจำเป็นต้องเว้นชื่อบิดาไว้ เมื่อเด็กหญิงดาวอายุได้สามเดือน นายดอนก็ทนเห็นสภาพครอบครัวไม่ไหว จึงตัดสินใจฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร นางเดียวคัดค้านการฟ้องคดี โดยอ้างว่าเด็กเกิดในขณะที่นางเดียวเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายดอน ดังนั้น บุตรที่เกิดมาเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถที่จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรได้ ส่วนนายดอนก็อ้างว่ากฎหมายให้สามีฟ้องได้ เพราะว่านายดอนเป็นหมัน ไม่สามารถมีลูกได้
ให้วินิจฉัยว่า นายดอนจะฟ้องคดีไม่รับเด็กหญิงดาวไว้เป็นบุตรของตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
👉 เทคนิคก่อนทำข้อสอบต้องเขียน Flow chart ความเชื่อมโยงของบุคคลทั้งหมดตามโจทย์ให้ครบ จากนั้นดูต่อว่ามีบทมาตราไหนที่ต้องนำมาพิจารณาตามข้อเท็จจริงตามโจทย์
ก่อนตอบทำ 3 ขั้นตอนด้านล่างนี้ก่อนครับ
1 ยกบทกฏหมายที่เข้ากับข้อเท็จ (พิจารณาข้อเท็จจริงและคำถามว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร)
2 วินิจฉัย (เรียบเรียงเนื้อความตัวบทจากข้อ 1 เข้ากับข้อเท็จจริงตามโจทย์)
3 สรุป (ฟันธงตอบคำถามให้ตรงประเด็นที่โจทย์ถาม)
แนวการตอบ
กรณีตามปัญหา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วางหลักว่า
มาตรา 1536 วางหลักไว้ว่า เด็กเกิดแก่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี
มาตรา 1539 วางหลักไว้ว่า ในกรณีที่สันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตามมาตรา 1536 มาตรา 1537 และมาตรา 1538 ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะไม่รับเด็กเป็นบุตรของตนก็ได้ โดยฟ้องเด็กกับมารดาเด็กร่วมกันเป็นจำเลยและพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรภ์ คือ ระหว่างหนึ่งร้อยแปดสินวันถึงสามร้อยสิบวัน ก่อนเด็กเกิด หรือตนไม่สามารถเป็นบิดาของเด็กได้เพราะเหตุอย่างอื่น
มาตรา 1541 วางหลักไว้ว่า ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา 1539 ไม่ได้ ถ้าปรากฏว่าตนเป็นผู้แจ้งการเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตน หรือจัดหรือยอมให้มีการแจ้งดังกล่าว
ข้อเท็จจริงตามปัญหา การที่นายดอนสมรสกับนางเดียวแล้วมีบุตรคือเด็กหญิงดาวนั้น จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ปพพ.มาตรา 1536 กฎหมายถือว่าเด็กหญิงดาวเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายดอนและนางเดียว แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวของกฎหมายนั้นไม่ใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาด เพราะกฎหมายยังเปิดโอกาสให้บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายตามข้อสันนิษฐานดังกล่าว สามารถที่จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรได้ตาม ปพพ.1539 โดยจะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า ตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรภ์ คือ ระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนเด็กเกิด หรือตนไม่สามารถเป็นบิดาของเด็กได้เพราะเหตุอย่างอื่น คือ ตนเป็นหมัน จึงสามารถใช้สิทธิในการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรได้ โดยต้องฟ้องนางเดียวและเด็กหญิงดาวทั้งสองร่วมกันเป็นจำเลย
ทั้งนี้หากนายดอนยอมเซ็นรับว่าตนเป็นบิดาตอนที่เกิดเด็กหญิงดาวเกิดมานั้น จะทำให้นายดอนไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรได้ ตาม ปพพ.1541 แต่ข้อเท็จจริงนายดอนไม่ได้เซ็นรับว่าเป็นบิดา จึงทำให้นายดอนสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ ไม่ต้องด้วยข้อห้ามแต่อย่างใด
สรุป ข้ออ้างของนางเดียวที่ว่าเด็กหญิงดาวเกิดในระหว่างสมรสจึงฟังไม่ขึ้น อีกทั้งนายดอนมิได้ลงลายมือชื่อรับว่าตนเป็นบิดาตอนเด็กหญิงดาวเกิด จึงไม่ต้องด้วยการห้ามฟ้องแต่อย่างใด ดังนั้นนายดอนจึงสามารถฟ้องคดีไม่รับเด็กหญิงดาวเป็นบุตรได้ เพราะตนไม่สามารถมีบุตรได้เนื่องจากเป็นหมัน
**
ช่วง Bonus จากพี่เล้ง:😇
ข้อสอบกฏหมายแพ่ง 3 ค่อนข้างที่จะมีหลายบทมาตรา ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะสอบให้ผ่าน
พี่เล้งมีคำแนะนำดังต่อไปนี้ครับ
✅ฝึกทำข้อสอบอัตนัยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (หาข้อสอบจากลิ้งค์ของบทความของพี่เล้งได้ที่นี่)
✅ทำความเข้าใจกฏหมายมาตราหลักๆของหมวดวิชากฏหมายแพ่ง 3 ให้ครอบคลุม ได้แก่ บรรพ 5 ครอบครัว และ บรรพ 6 มรดก
✅่่ท่องมาตราเน้นเพราะเป็นตัวช่วยที่จะทำให้เราได้คะแนนมาส่วน 1 ใน 3 ส่วนของการตอบแต่ละข้อสอบ
ข้อสอบอัตนัยมี 3 ส่วน ได้แก่
1 ท่อนแรก ยกบทกฏหมาย
2 ท่อนสอง วินิจฉัย
3 ท่อนท้าย สรุปธงคำตอบ
คลิกดู 💣 รูปแบบฟอร์มการตอบ
ข้อสอบอัตนัยมี 3 ส่วน ได้แก่
1 ท่อนแรก ยกบทกฏหมาย
2 ท่อนสอง วินิจฉัย
3 ท่อนท้าย สรุปธงคำตอบ
คลิกดู 💣 รูปแบบฟอร์มการตอบ
คำคมน่าคิด ช่วยสกิดให้เราเดินต่อไป
"ไม่สำคัญว่าวันก่อนเราจะล้มเหลวเรื่องอะไร วันนี้สำคัญเพราะเราจะไม่ยอมล้มเหลวเรื่องเมื่อวานนี้"
ขอให้เพื่อนๆโชคดีและได้รับปริญญาตรีนิติศาสตร์สมดังตั้งใจครับ
I'm here with you. Cheer up! / สู้สู้ ก็ยังไง!
ขอบคุณที่ติดตามบล็อกและเฟสบุคของ พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ
สวัสดีครับ
ช่วยกด Like กด Share จะได้ช่วยกันเผยแพร่ให้พวกๆเรากันเองครับ
สไลด์ดูแนวข้อสอบอื่นๆ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น