มาตราเน้น พา 1 มสธ สรุป อ่านง่าย เหมาะกับคนไม่ค่อยมีเวลา | เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

 พา 1 มสธ ดูมาตราเน้น แล้วเค้นเอาไปสอบ...

(มีโบนัสช่วงท้าย อย่าลืมล่ะ)

สวัสดีครับเพื่อนๆ พบกับ พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ วันนี้มีแนวมาตราเน้นที่ควรท่องให้ได้มากเท่าที่จะทำได้ หรืออย่างน้อยต้องเข้าตัวบทชัดเจน รับรองสอบผ่านแน่นอนครับ อันนี้ไม่ได้พูดเล่นนะครับ


หากเพื่อนๆเรียนกันมาถึงวิชานี้แล้ว แสดงว่าผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาพอสมควรแล้วครับ ดังนั้นก็เป็นกำลังใจให้แก่กันและกันด้วยสรุปมาตราเน้นของวิชากฏหมายพาณิชย์ 1: ซื้อขาย เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ รหัส 41321
Commercial Law I: Sales, Hire and Hire-purchase 41321

Tab ติดตามวิชากฏหมาย: Attorney's journey: หนทางนักกฏหมาย

กฎหมายพาณิชย์1 (หน่วยเน้น 2,3,9,10,12,13)

 

*    หน่วย 2 คำมั่น สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด

มาตรา 453

สัญญาซื้อขาย

         อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

มาตรา 454

ผลของการซื้อขาย

         การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะซื้อหรือขายนั้นจะมีผลเป็นการซื้อขายต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายนั้นให้สำเร็จตลอดไป และคำบอกกล่าว เช่นนั้นได้ไปถึงบุคคลผู้ให้คำมั่นแล้ว

          ถ้าในคำมั่นมิได้กำหนดเวลาไว้เพื่อการบอกกล่าวเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้ให้คำมั่นจะกำหนดเวลาพอสมควร และบอกกล่าวไป ยังคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้ตอบมาเป็นแน่นอนภายในเวลากำหนดนั้น ก็ได้ว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่ ถ้าและไม่ตอบ เป็นแน่นอนภายในกำหนดเวลานั้นไซร้ คำมั่นซึ่งได้ให้ไว้ก่อนนั้นก็ เป็นอันไร้ผล

มาตรา 456

คำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สิน

          การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไซร้ ท่านว่าเป็นโมฆะวิธีนี้ให้ ใช้ถึงซื้อขายเรือกำปั่นหรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

         อนึ่งสัญญาจะขายหรือจะซื้อทรัพย์สินอย่างใด ๆ ดั่งว่ามานี้ก็ดี คำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินเช่นว่านั้นก็ดี ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็น หนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

          บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับถึงสัญญา ซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาห้าร้อยบาท หรือกว่า นั้นขึ้นไปด้วย

 

ü EX. ฎีกาว่าการซื้อขายที่ดิน นส.3 ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน เป็นโมฆะ

ü สัตว์พาหนะ หมายถึง ช้าง ม้า โค กระบือ ลา ล่อ แต่สัตว์เหล่านี้ต้องได้ทำตั๋วรูปพรรณแล้วเท่านั้น

มาตรา 458

การโอนกรรมสิทธิ์

          กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อ ตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน

 

ü กรรมสิทธิ์ แค่ตกลงซื้อขายกันก็ทำให้กรรมสิทธิ์ได้โอนไปแล้ว

มาตรา 459

ข้อยกเว้นการโอนกรรมสิทธิ์

          ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไป ตามเงื่อนไข หรือถึงกำหนดเงื่อนไขเวลานั้น

มาตรา 460

การซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนและทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง

          ในการซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนนั้น ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้หมาย หรือนับ ชั่ง ตวง วัด หรือคัดเลือก หรือทำโดยวิธีอื่นเพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็น แน่นอนแล้ว

          ในการซื้อขายทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง ถ้าผู้ขายยังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัดหรือทำการอย่างอื่น หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สิน เพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอน ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอน ไปยังผู้ซื้อจนกว่าการหรือสิ่งนั้นได้ทำแล้ว

 

ü EX. มาตรา 460 ว.2 ก.ตกลงซื้อถั่วจาก ข. ซึ่งมีอยู่กระสอบเดียว และวางอยู่หน้าร้านของ ข.ราคากิโลกรัมละ 5 บาท ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในถั่วเหลืองกระสอบนั้นโอนมายัง ก.ตั้งแต่เมื่อใด

ü ตอบ เป็นการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง แต่กรรมสิทธิ์ในถั่วเหลืองยังไม่โอนมายัง ก.จนกว่า ข.ชั่งถั่วในกระสอบนั้น เพื่อรู้กำหนดราคาถั่วทั้งกระสอบเป็นการแน่นอนเสียก่อน

 

*    หน่วย 3  หน้าที่และความรับผิดของผู้ขายและหน้าที่ของผู้ซื้อ

มาตรา 461

ลักษณะการส่งมอบ

           ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อ

มาตรา 465

การส่งมอบทรัพย์สินผิดจากที่ระบุไว้ในสัญญา

         ในการซื้อขายสังหาริมทรัพย์นั้น

(1) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ ท่านว่า ผู้ซื้อจะปัดเสียไม่รับเอาเลยก็ได้ แต่ถ้าผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้ ผู้ซื้อก็ต้องใช้ราคาตามส่วน

(2) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ ท่านว่า ผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้แต่เพียงตามสัญญา และนอกกว่านั้นปัด เสียก็ได้ หรือจะปัดเสียทั้งหมดไม่รับเอาไว้เลยก็ได้ ถ้าผู้ซื้อรับเอา ทรัพย์สินอันเขาส่งมอบเช่นนั้นไว้ทั้งหมด ผู้ซื้อก็ต้องใช้ราคาตามส่วน

(3) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้สัญญาไว้ระคนกับ ทรัพย์สินอย่างอื่นอันมิได้รวมอยู่ในข้อสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะรับ เอาทรัพย์สินไว้แต่ตามแต่ตามสัญญา และนอกกว่านั้นปัดเสียก็ได้ หรือจะปัดเสียทั้งหมดก็ได้

มาตรา 466

การส่งมอบทรัพย์สินผิดจากที่ระบุไว้ในสัญญา(อสังหาริมทรัพย์)

          ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น หากว่าได้ระบุ จำนวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ และผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยหรือมาก ไปกว่าที่ได้สัญญาไซร้ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือจะรับเอาไว้และ ใช้ราคาตามส่วนก็ได้ ตามแต่จะเลือก

          อนึ่ง ถ้าขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละห้าแห่ง เนื้อที่ทั้งหมดอันได้ระบุไว้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจำต้องรับเอาและใช้ ราคาตามส่วน แต่ว่าผู้ซื้ออาจจะเลิกสัญญาเสียได้ในเมื่อขาดตก บกพร่องหรือล้ำจำนวนถึงขนาดซึ่งหากผู้ซื้อได้ทราบก่อนแล้วคงจะ มิได้เข้าทำสัญญานั้น

 

ü หมายเหตุ; มาตรา 466 ว.2 ถ้าหากขาดตกบกพร่องหรือส่งจำนวนเกินกว่าร้อยละ5 แห่งเนื้อที่ทั้งหมดอันได้ระบุไว้ ก็ไม่อยู่ในบังคับตามวรรค 2 ต้องบังคับตามวรรค 1 เท่านั้น

มาตรา 467

อายุความฟ้องคดี

          ในข้อรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ

มาตรา 468

การยึดหน่วงจนกว่าจะใช้ราคา

          ถ้าในสัญญาไม่มีกำหนดเงื่อนเวลาให้ใช้ราคาไซร้ ผู้ขายชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินที่ขายไว้ได้จนกว่าจะใช้ราคา

 

ü หมายเหตุ; สิทธิยึดหน่วง จะต้องใช้ก่อนที่มีการส่งมอบ ถ้าส่งมอบไปแล้วผู้ซื้อไม่ชำระราคา ผู้ขายจะใช้สิทธิยึดหน่วงไม่ได้

มาตรา 470

ผลของการยึดหน่วงทรัพย์สินที่ขาย

          ถ้าผู้ซื้อผิดนัด ผู้ขายซึ่งได้ยึดหน่วงทรัพย์สินไว้ ตาม มาตราทั้งหลายที่กล่าวมาอาจจะใช้ทางแก้ต่อไปนี้ แทนทางแก้สามัญในการไม่ชำระหนี้ได้ คือมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้ซื้อให้ใช้ราคากับทั้งค่าจับจ่ายเกี่ยวกับการภายในเวลาอันควร ซึ่งต้องกำหนดลงไว้ในคำบอกกล่าวนั้นด้วย

          ถ้าผู้ซื้อละเลยเสียไม่ทำตามคำบอกกล่าว ผู้ขายอาจนำทรัพย์สิน นั้นออกขายทอดตลาดได้

 

มาตรา 472

ลักษณะความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง

          ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่าง หนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

          ความที่กล่าวมาใน มาตรานี้ ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือ ไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

 

ü หมายเหตุ; ผู้ขายต้องรับผิดในทรัพย์สินที่ชำรุดก่อนการขาย

มาตรา 473

ข้อยกเว้นไม่ต้องรับผิดของผู้ขาย

         ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้คือ

(1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้ว แต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้น หากได้ใช้ความระมัดระวังอันพึงคาดหมายได้ แต่วิญญูชน

(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้น เป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลา ส่งมอบและผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน

(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

มาตรา 474

อายุความฟ้องคดี

          ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง

มาตรา 475

ลักษณะแห่งการรอนสิทธิ

          หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อ ในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือ ทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของ ผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น

 

ü การรอนสิทธิ หมายถึง การที่ผู้มารบกวนสิทธิของผู้ซื้อนั้น จะต้องเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมาย  โดยเป็นผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ซื้อขายกันและต้องมีสิทธิดีกว่าผู้ขาย

มาตรา 476

กรณีไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิ

           ถ้าสิทธิของผู้ก่อการรบกวนนั้นผู้ซื้อรู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขาย ท่านว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิด

 

ü ผู้ซื้อรู้ถึงสิทธิของผู้รบกวนในเวลาซื้อขาย

ü EX. ก.ซื้อรถยนต์มาจาก ข. โดยรู้ว่า ข.ขโมยรถของ ค.มาขาย ค.มาเรียกร้องเอารถคืนจาก ก. โดย ก.จะเรียกราคาคืนจาก ข.ไม่ได้

มาตรา 483

ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิด

           คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิด เพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้

 

ü เช่นผู้ขายมีข้อตกลงว่าจะไม่ต้องรับผิดชอบในการรอนสิทธิ

มาตรา 484

          ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ย่อมไม่คุ้มผู้ขาย ให้พ้นจากการต้องส่งเงินคืนตามราคา เว้นแต่จะได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 485

ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิด

          ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ไม่อาจคุ้มความรับผิด ของผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเอง หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่และปกปิดเสีย

 

ü EX. เช่น ก.ตกลงซื้อที่ดินจาก ข. ข.รู้ดีว่าที่ดินของตนแปลงที่ตกลงขายให้ ก.นั้นได้ถูก ค.ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ไปแล้ว ก็ไม่ยอมบอกความจริงดังกล่าวให้แก่ ก.ทราบ กลับตกลงกันว่า ข.ไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิ์ (ม.483)  ดังนี้ไม่ทำให้ ข.พ้นจากความรับผิดที่ต้องคืนราคาที่ดินแก่ ก.ได้

มาตรา 486

หน้าที่ต้องรับมอบทรัพย์สิน

          ผู้ซื้อจำต้องรับมอบทรัพย์สินที่ตนได้รับซื้อและใช้ ราคาตามข้อสัญญาซื้อขาย

มาตรา 487

หน้าที่ต้องชำระราคา

          อันราคาทรัพย์สินที่ขายนั้นจะกำหนดลงไว้ในสัญญา ก็ได้หรือจะปล่อยไปให้กำหนดกันด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งได้ ตกลงกันไว้ในสัญญานั้นก็ได้ หรือจะถือเอาตามทางการที่คู่สัญญา ประพฤติต่อกันอยู่นั้นก็ได้

ถ้าราคามิได้มีกำหนดเด็ดขาดอย่างใดดั่งว่ามานั้นไซร้ ท่านว่า ผู้ซื้อจะต้องใช้ราคาตามสมควร

มาตรา 488

เมื่อผู้ซื้อพบเห็นความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ซื้อ

          ถ้าผู้ซื้อพบเห็นความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งตนได้รับซื้อ ผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระไว้ได้ทั้งหมด หรือแต่บางส่วนเว้นแต่ผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้

มาตรา 489

สิทธิยึดหน่วงเมื่อผู้ซื้อถูกผู้รับจำนองขู่ว่าจะฟ้องเป็นคดี

          ถ้าผู้ซื้อถูกผู้รับจำนองหรือบุคคลผู้เรียกร้องเอา ทรัพย์สินที่ขายนั้นขู่ว่าจะฟ้องเป็นคดีขึ้นก็ดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่า จะถูกขู่เช่นนั้นก็ดี ผู้ซื้อก็ชอบที่จะยึดหน่วงราคาไว้ทั้งหมดหรือ บางส่วนได้ดุจกันจนกว่าผู้ขายจะได้บำบัดภัยอันนั้นให้สิ้นไป หรือ จนกว่าผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้

 

ü ผู้ขายจะได้บำบัดภัยอันนั้นให้สิ้นไป หมายถึง ผู้ขายไปทำความตกลงกับผู้รับจำนองว่าให้งดการฟ้องร้องผู้ซื้อไว้ก่อน ตนจะหาเงินมาชำระหนี้ให้ในภายหลัง

มาตรา 498

บุคคลผู้มีหน้ามี่รับไถ่

           สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้เฉพาะต่อบุคคล เหล่านี้ คือ

(1) ผู้ซื้อเดิม หรือทายาทของผู้ซื้อเดิม หรือ

(2) ผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น แต่ใน ข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ในเวลาโอน ว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน

 

*    หน่วย 9  เช่าทรัพย์

มาตรา 537

สัญญาเช่าทรัพย์

          อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้เช่าได้ใช้หรือ ได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น

 

ü หมายเหตุ; ผู้ให้เช่าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า แต่ต้องมีอำนาจในการนำทรัพย์สินออกให้เช่า

มาตรา 538

หลักฐานการทำสัญญาเช่า

          เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

 

มาตรา 540

กำหนดเวลาเช่าอสังหาริมทรัพย์

           อันอสังหาริมทรัพย์ ท่านห้ามมิให้เช่ากันเป็นกำหนด เวลาเกินกว่าสามสิบปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานาน กว่านั้นท่านก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี

อนึ่ง กำหนดเวลาเช่าดั่งกล่าวมานี้ เมื่อสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีก ก็ได้แต่ต้องอย่าให้เกินสามสิบปีนับแต่วันต่อสัญญา

 

ü ส่วนสังหาริมทรัพย์นั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุการเช่าทรัพย์ไว้ ดังนั้นจึงสามารถให้เช่าเกินกว่า 30 ปีได้

มาตรา 541

           สัญญาเช่านั้นจะทำกันเป็นกำหนดว่าตลอดอายุของ ผู้ให้เช่าหรือของผู้เช่าก็ให้ทำได้

 

ü อายุ หมายถึง อายุของบุคคลธรรมดาไม่ใช่อายุของนิติบุคคล

มาตรา 542

บุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์อันเดียวกัน

          บุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์อันเดียวกัน อาศัยมูลสัญญาเช่าต่างราย ท่านว่าทรัพย์ตกไปอยู่ในครอบครองผู้เช่าคนใดก่อนด้วยสัญญาเช่าทรัพย์นั้น คนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่น ๆ

มาตรา 543

บุคคลหลายคนเรียกเอาอสังหาริมทรัพย์อันเดียวกัน

           บุคคลหลายคนเรียกร้องเอาอสังหาริมทรัพย์อันเดียวกัน อาศัยมูลสัญญาเช่าต่างราย ท่านให้วินิจฉัยดั่งต่อไปนี้

(1) ถ้าการเช่านั้นเป็นประเภท ซึ่งมิได้บังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้อง จดทะเบียน ท่านให้ถือว่าผู้เช่าซึ่งได้ทรัพย์สินไปไว้ในครอบครองก่อน ด้วยสัญญาเช่าของตนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่น ๆ

(2) ถ้าการเช่าทุกๆรายเป็นประเภทซึ่งบังคับไว้โดยกฎหมายว่า ต้องจดทะเบียน ท่านให้ถือว่าผู้เช่าซึ่งได้จดทะเบียนการเช่าของตน ก่อนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่นๆ

(3) ถ้าการเช่ามีทั้งประเภทซึ่งต้องจดทะเบียนและประเภท ซึ่ง ไม่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายยันกันอยู่ไซร้ ท่านว่าผู้เช่าคนที่ได้ จดทะเบียนการเช่าของตนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าเว้นแต่ผู้เช่าคนอื่นจะได้ ทรัพย์สินนั้นไปไว้ในครอบครองด้วยการเช่าของตนเสียก่อนวัน จดทะเบียนนั้นแล้ว

มาตรา 544

สัญญาเช่าทรัพย์ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า(ไม่ตกทอดสู่ทายาท)

           ทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิ ของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่า

           ถ้าผู้เช่าประพฤติฝ่าฝืนบทบัญญัติอันนี้ ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

 

ü สัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว ถ้าผู้เช่าตายสัญญาระงับ แต่ถ้าผู้ให้เช่าตายสัญญาไม่ระงับ

มาตรา 545

ความรับผิดของผู้ให้เช่าช่วงกรณีเช่าช่วงโดยชอบ

           ถ้าผู้เช่าเอาทรัพย์สินซึ่งตนเช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงอีก ทอดหนึ่งโดยชอบ ท่านว่าผู้เช่าช่วงย่อมต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิม โดยตรง ในกรณีเช่นว่านี้หากผู้เช่าช่วงจะได้ใช้ค่าเช่าให้แก่ผู้เช่า ไปก่อน ท่านว่าผู้เช่าช่วงหาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อการต่อสู้ผู้ให้เช่าได้ไม่

           อนึ่ง บทบัญญัติอันนี้ไม่ห้ามการที่ผู้ให้เช่าจะใช้สิทธิของตนต่อผู้เช่า

 

 

ü EX. หากผู้ให้เช่าคิดค่าเช่ากับผู้เช่า 5000 บาทและผู้เช่าคิดค่าเช่ากับผู้เช่าช่วง 3000 บาท ถึงอย่างไรผู้ให้เช่าก็เรียกค่าเช่าจากผู้เช่าช่วงได้เพียง 3000 บาท แต่หากว่าผู้ให้เช่าคิดราคาค่าเช่าจากผู้เช่า 3000 บาทและผู้เช่าคิดจากผู้เช่าช่วง 5000 บาท ผู้ให้เช่าสามารถเรียกค่าเช่าจากผู้เช่าช่วงได้ 3000 บาทเท่านั้น

มาตรา 546

การส่งมอบทรัพย์สินที่เช่า

           ผู้ให้เช่าจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพ อันซ่อมแซมดีแล้ว

มาตรา 547

การชดใช้ค่าใช้จ่ายแก่ผู้เช่า

           ผู้เช่าต้องเสียค่าใช้จ่ายไปโดยความจำเป็นและสมควร เพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นเท่าใด ผู้ให้เช่าจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้เช่า เว้นแต่ค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติและเพื่อซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย

มาตรา 548

 

           ถ้าผู้ให้เช่าส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นโดยสภาพ ไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าจะบอกเลิก สัญญาเสียก็ได้

มาตรา 549

กรณีทรัพย์สินที่เช่าชำรุดบกพร่อง

           การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่าก็ดี ความรับผิดของผู้ให้เช่าในกรณีชำรุดบกพร่องและรอนสิทธิก็ดี ผลแห่งข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดก็ดี เหล่านี้ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยการซื้อขายอนุโลมความตามควร

มาตรา 550

ความรับผิดของผู้ให้เช่าในความชำรุดบกพร่อง

           ผู้ให้เช่าย่อมต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องอันเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเช่า และผู้ให้เช่าต้องจัดการซ่อมแซมทุกอย่างบรรดาซึ่งเป็นการจำเป็นขึ้น เว้นแต่การซ่อมแซมชนิดซึ่งมีกฎหมายหรือจารีตประเพณีว่าผู้เช่าจะพึงต้องทำเอง

มาตรา 551

การบอกกล่าวให้ผู้ให้เช่าจัดการแก้ไขความชำรุดบกพร่อง

            ถ้าความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินที่เช่านั้นไม่เป็น เหตุถึงแก่ผู้เช่าจะต้องปราศจากการใช้และประโยชน์ และผู้ให้เช่ายัง แก้ไขได้ไซร้ ผู้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้ให้เช่าให้จัดการแก้ไขความ ชำรุดบกพร่องนั้นก่อน ถ้าถ้าและผู้ให้เช่าไม่จัดทำให้คืนดีภายในเวลา อันสมควร ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ หากว่าความชำรุด บกพร่องนั้นร้ายแรงถึงสมควรจะทำเช่นนั้น

 

*    หน่วย 10  เช่าทรัพย์

มาตรา 552

การใช้ทรัพย์สินที่เช่า

           อันผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจาก ที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติ หรือการดั่งกำหนดไว้ในสัญญานั้น ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่

มาตรา 553

การสงวนทรัพย์สินที่เช่า

           ผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่านั้นเสมอกับที่วิญญูชน จะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซม เล็กน้อยด้วย

มาตรา 555

การให้ผู้ให้เช่าหรือตัวแทนเข้าตรวจทรัพย์สิน

           ผู้เช่าจำต้องยอมให้ผู้ให้เช่าหรือตัวแทนของผู้ให้เช่า เข้าตรวจดูทรัพย์สินที่เช่าเป็นครั้งคราว ในเวลาและระยะอันสมควร

มาตรา 556

กรณีมีเหตุที่ผู้ให้เช่าต้องซ่อมแซมทรัพย์สินโดยเร่งร้อน

            ถ้าในระหว่างเวลาเช่ามีเหตุจะต้องซ่อมแซมทรัพย์สิน ซึ่งเช่นนั้นเป็นการเร่งร้อน และผู้ให้เช่าประสงค์จะทำการอันจำเป็นเพื่อ ที่จะซ่อมแซมเช่นว่านั้นไซร้ ท่านว่าผู้เช่าจะไม่ยอมให้ทำนั้นไม่ได้ แม้ถึง ว่าการนั้นจะเป็นความไม่สะดวกแก่ตน ถ้าการซ่อมแซมเป็นสภาพซึ่ง ต้องกินเวลานานเกินสมควร จนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นไม่เหมาะแก่การ ที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา 557

กรณีที่ผู้เช่าต้องแจ้งเหตุให้ผู้ให้เช่าโดยพลัน

           ในกรณีอย่างใด ๆ ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) ถ้าทรัพย์สินที่เช่านั้นชำรุดควรที่ผู้ให้เช่าจะต้องซ่อมแซมก็ดี

(2) ถ้าจะต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อปัดป้องภยันตราย แก่ทรัพย์สินนั้นก็ดี

(3) ถ้าบุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามาในทรัพย์สินที่เช่า หรือเรียกร้อง สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเหนือทรัพย์สินนั้นก็ดี

            ในเหตุดั่งกล่าวนั้นให้ผู้เช่าแจ้งเหตุแก่ผู้ให้เช่าโดยพลัน เว้นแต่ผู้ ให้เช่าจะได้ทราบเหตุนั้นอยู่ก่อนแล้ว

            ถ้าผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้ไซร้ ท่านว่าผู้เช่า จะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าในเมื่อผู้ให้เช่าต้องเสียหายอย่างใด ๆ เพราะ ความละเลยชักช้าของผู้เช่านั้น

มาตรา 558

กรณีผู้เช่าดัดแปลงหรือต่อเติมทรัพย์สินที่เช่า

            อันทรัพย์สินที่เช่านั้น ถ้ามิได้รับอนุญาตของผู้ให้เช่า ก่อน ผู้เช่าจะทำการดัดแปลงหรือต่อเติมอย่างหนึ่งอย่างใดหาได้ไม่ ถ้าและผู้เช่าทำไปโดยมิได้รับอนุญาตของผู้ให้เช่าเช่นนั้นไซร้ เมื่อผู้ ให้เช่าเรียกร้อง ผู้เช่าจะต้องทำให้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนคงสภาพเดิม ทั้งจะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การดัดแปลงต่อเติมนั้นด้วย

มาตรา 560

การบอกเลิกสัญญากรณีผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า

            ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

            แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาว กว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่า เช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

มาตรา 561

บทสันนิษฐานตามกฎหมายว่าผู้เช่าได้ทรัพย์สินที่เช่าในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้ว

            ถ้ามิได้ทำหนังสือลงลายมือชื่อของคู่สัญญาแสดงไว้ ต่อกันว่าทรัพย์สินที่ให้เช่ามีสภาพเป็นอย่างไร ท่านให้สันนิษฐานไว้ ก่อนว่าผู้เช่าได้รับทรัพย์สินที่เช่านั้นไปโดยสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว และเมื่อสัญญาได้เลิกหรือระงับลง ผู้เช่าก็ต้องส่งคืนทรัพย์สินในสภาพ เช่นนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิได้ซ่อมแซมไว้ดีในขณะที่ส่งมอบ

 

ü บทสันนิษฐานตามกฎหมายผู้เช่าต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้วเช่นกัน

มาตรา 562

ความรับผิดของผู้เช่าในความสูญหายหรือบุบสลาย

            ผู้เช่าจะต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลาย อย่างใด ๆ อันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่า เพราะความผิดของผู้เช่าเอง หรือของบุคคลซึ่งอยู่กับผู้เช่าหรือของผู้เช่าช่วง

           แต่ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์สินนั้นโดยชอบ

มาตรา 563

อายุความฟ้องคดี

           คดีอันผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้นท่าน ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า

 

มาตรา 567

กรณีทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปทั้งหมด

           ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปทั้งหมดไซร้ ท่านว่าสัญญาเช่าก็ย่อมระงับไปด้วย

มาตรา 568

กรณีทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปเพียงบางส่วน

           ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปแต่เพียงบางส่วนและ มิได้เป็นเพราะความผิดของผู้เช่า ท่านว่าผู้เช่าจะเรียกให้ลดค่าเช่าลง ตามส่วนที่สูญหายก็ได้

           ในกรณีเช่นนี้ ถ้าผู้เช่าไม่สามารถใช้สอยทรัพย์สินส่วนที่ยังคงเหลือ อยู่นั้นสำเร็จประโยชน์ได้ดั่งที่ได้มุ่งหมายเข้าทำสัญญาเช่าไซร้ ท่านว่า ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา 569

การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

          อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

           ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

 

ü ผู้รับโอนจะต้องผูกพันตามสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเดิมที่ผู้โอนกับผู้เช่ามีต่อกัน โดยถือเสมือนว่าผู้รับโอนได้เข้ามาแทนที่ผู้โอนในการเป็นผู้ให้เช่าแทนผู้โอน

มาตรา 570

กรณีการครองทรัพย์สินที่เช่าเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่า

          ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้า ผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา

 

ü แต่ถ้าผู้ให้เช่าทักท้วง ย่อมทำให้สัญญาเช่าไม่ได้ต่อใหม่แบบไม่มีกำหนดเวลา

 

*    หน่วย 12  จ้างแรงงาน

มาตรา 575

ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน

           อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

 

ü สัญญาจ้างแรงงานมีลักษณะเฉพาะ 3 ประการคือ

1.       เป็นสัญญาต่างตอบทน

2.       เป็นสัญญาไม่มีแบบ

3.       เป็นสัญญาเฉพาะตัว

มาตรา 576

           ถ้าตามพฤติการณ์ไม่อาจจะคาดหมายได้ว่างานนั้น จะพึงทำให้เปล่าไซร้ ท่านย่อมถือเอาโดยปริยายมีคำมั่นจะให้สินจ้าง

มาตรา 577

เป็นสัญญาเฉพาะตัว

          นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้ เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย

          ลูกจ้างจะให้บุคคลภายนอกทำงานแทนตนก็ได้ เมื่อนายจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย

          ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง จะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา 578

ลูกจ้ารับรองว่าตนเป็นผู้มีฝีมือพิเศษแต่ปรากฏว่าไร้ฝีมือ

          ถ้าลูกจ้างรับรองโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ว่าตนเป็นผู้มีฝีมือพิเศษ หากมาปรากฏว่าไร้ฝีมือเช่นนั้นไซร้ ท่านว่านายจ้างชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเสียได้

มาตรา 579

ลูกจ้างขาดงานไปโดยมีเหตุอันควร

          การที่ลูกจ้างขาดงานไปโดยเหตุอันสมควร และชั่วระยะเวลาน้อยพอสมควรนั้น ท่านว่าไม่ทำให้นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

มาตรา 580

 

          ถ้าไม่มีกำหนดโดยสัญญาหรือจารีตประเพณีว่าจะ พึงจ่ายสินจ้างเมื่อไร ท่านว่าพึงจ่ายเมื่องานได้ทำแล้วเสร็จ ถ้าการ จ่ายสินจ้างนั้นได้กำหนดกันไว้เป็นระยะเวลา ก็ให้พึงจ่ายเมื่อสุด ระยะเวลาเช่นนั้นทุกคราวไป

มาตรา 581

การบอกเลิกสัญญาจ้างงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน

           ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีกและนายจ้างรู้ดั่งนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่ โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามความใน มาตรา ต่อไปนี้

มาตรา 582

การบอกเลิกสัญญาโดยการบอกกล่าวล่วงหน้า

           ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกัน นานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าว ล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้าง หน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

           อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดั่งว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแต่ลูกจ้างเสีย ให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอก กล่าวนั้นทีเดียวแล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันที ก็อาจทำได้

มาตรา 583

สิทธิและหน้าที่ของนายจ้างกรณีเลิกจ้างหรือไล่ลูกจ้างออกจากงาน

          ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วย กฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือ ทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดย ถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอก กล่าวล่วงหน้า หรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

มาตรา 584

สัญญาจ้างระงับเพราะความมรณะของนายจ้าง

           ถ้าจ้างแรงงานรายใดมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคล ผู้เป็นนายจ้าง ท่านว่าสัญญาจ้างเช่นนั้นย่อมระงับไปด้วยมรณะ แห่งนายจ้าง

มาตรา 585

ใบรับรองงาน

           เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญ แสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร

มาตรา 586

ค่าเดินทางเมื่อการจ้างสิ้นสุดลง

           ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่น โดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ไซร้ เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลง และถ้ามิได้กำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้ว ท่านว่านายจ้างจำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้ แต่จะต้องเป็นดั่งต่อไปนี้ คือ

(1) สัญญามิได้เลิกหรือระงับ เพราะการกระทำหรือความผิดของ ลูกจ้างและ

(2) ลูกจ้างกลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างเอามาภายในเวลาอันสมควร

 

ü หมายเหตุ; ถ้าลูกจ้างเดินทางมาเองนายจ้างไม่ต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้

 

*    หน่วย 13  จ้างทำของ

มาตรา 587

สัญญาจ้างทำของ

           อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อ ผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

 

 

สาระสำคัญของสัญญาจ้างทำของมีดังนี้

1.       เป็นสัญญาต่างตอบแทน

2.       เป็นสัญญาที่มุ่งถึงความสำเร็จของการงานที่ว่าจ้าง

3.       เป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ คือเป็นสัญญาซึ่งเพียงคู่กรณีตกลงกันก็บังคับกันได้

4.       ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาผู้รับจ้าง แต่มีสิทธิตรวจตรางานที่ว่าจ้างตลอดเวลา

 EX. สัญญาทนายความเป็นสัญญาจ้างทำของ

มาตรา 588

การจัดหาเครื่องมือในการทำงานและสัมภาระ

          เครื่องมือต่าง ๆ สำหรับใช้ทำการงานให้สำเร็จนั้น ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา

มาตรา 589

          ถ้าสัมภาระสำหรับทำการงานที่กล่าวนั้นผู้รับจ้าง เป็นผู้จัดหา ท่านว่าต้องจัดหาชนิดที่ดี

 

ü สัมภาระ เช่น ไม้ หิน ปูน ทราย ในมาตรานี้ไม่ได้บังคับว่าผู้รับจ้างจะต้องเป็นผู้จัดหาสัมภาระ ดังนั้นผู้ว่าจ้างจะจัดหามาก็ได้ แต่ถ้าผู้รับจ้างจัดหามาก็จะต้องจัดหาชนิดที่ดีเท่านั้น

มาตรา 590

          ถ้าสัมภาระนั้นผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหามาส่ง ท่านให้ผู้ รับจ้างใช้สัมภาระด้วยความระมัดระวัง และประหยัดอย่าให้เปลือง เสียเปล่า เมื่อทำการงานสำเร็จแล้ว มีสัมภาระเหลืออยู่ก็ให้คืนแก่ ผู้ว่าจ้าง

มาตรา 591

ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่อง

          ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำ นั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่ง ของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้ว ว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะ หรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าว ตักเตือน

มาตรา 592

การยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนตรวจตรางานที่ทำ

          ผู้รับจ้างจำต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนของ ผู้ว่าจ้างตรวจตราการงานได้ตลอดเวลาที่ทำอยู่นั้น

มาตรา 593

ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาว่าจ้างทำของ

          ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการ ชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้าโดยปราศจาก ความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่ สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิก สัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงกำหนดส่งมอบของนั้นเลย

มาตรา 594

ความชำรุดบกพร่องอาจเกิดขึ้นในขณะที่ทำการงานยังไม่เสร็จสมบูรณ์ได้

          ถ้าในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาด หมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่องหรือ จะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญาเพราะความผิดของผู้รับจ้างไซร้ ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการ ให้เป็นไปตามสัญญา ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอก กล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไปท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะ เอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซม หรือทำต่อไปได้ซึ่งผู้รับจ้าง จะต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

มาตรา 595

           ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระไซร้ ความรับผิด ของผู้รับจ้างในการบกพร่องนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทแห่งประมวล กฎหมายนี้ลักษณะซื้อขาย

มาตรา 596

การส่งมอบงานให้ทันเวลา

           ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนด ไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญา เมื่อล่วงพ้นเวลา อันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระ สำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลาก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

มาตรา 597

ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบงานที่ทำล่าช้าโดยไม่อิดเอื้อน

          ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้ อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า

มาตรา 598

          ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุด บกพร่องมิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ผู้รับจ้างก็ ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบ ได้ในขณะเมื่อรับมอบ หรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย

มาตรา 599

         ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำ ชำรุดบกพร่องก็ดี ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร

มาตรา 600

         ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ ท่านว่า ผู้รับจ้างจะต้องรับผิด เพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องเพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายในห้าปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้

         แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปิดบัง ความชำรุดบกพร่องนั้น

 

ü หมายเหตุ; สิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน ถ้าปลูกเรือนไทยกลางสระน้ำไม่ถือว่าปลูกอยู่กับพื้นดิน ต้องฟ้องภายใน 1ปีนับแต่ส่งมอบ

มาตรา 601

อายุความสิทธิเรียกร้องในกรณีความเสียหายของการงานที่จ้างชำรุดบกพร่อง

         ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่ง นับแต่วัน การชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น

 

ü อายุความเรียกร้องค่าทำของและเงินทดรองจ่าย ปพพ.มาตรา 193/34 อายุความ 2ปี

มาตรา 603

ความวินาศเกิดขึ้นก่อนการส่งมอบโดยผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ

         ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ และการที่จ้างทำ นั้นพังทลายหรือบุบสลายลงก่อนได้ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่า ความวินาศอันนั้นตกเป็นพับแก่ผู้รับจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้ เป็นเพราะการกระทำของผู้ว่าจ้าง

         ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้

มาตรา 604

         ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ และการที่จ้างทำนั้น พังทลายหรือบุบสลายลงก่อนได้ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่าความ วินาศนั้นตกเป็นพับแก่ผู้ว่าจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้เป็นเพราะ การกระทำของผู้รับจ้าง

         ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้ เว้นแต่ความวินาศ นั้นเป็นเพราะการกระทำของผู้ว่าจ้าง

มาตรา 605

ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาในขณะที่การที่จ้างยังทำไม่เสร็จ

         ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้าง อาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อ ความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น

มาตรา 606

การระงับแห่งสัญญาโดยผลของกฎหมาย

         ถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถ ของตัวผู้รับจ้างและผู้รับจ้างตายก็ดี หรือตกเป็นผู้ไม่สามารถทำการ ที่รับจ้างนั้นต่อไปได้ด้วยมิใช่เพราะความผิดของตนก็ดี ท่านว่าสัญญา นั้นย่อมเป็นอันสิ้นลง

         ถ้าและการส่วนที่ได้ทำขึ้นแล้วนั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างไซร้ ท่านว่าผู้ว่าจ้างจำต้องรับเอาไว้และใช้สินจ้างตามสมควรแก่ส่วนนั้น ๆ

มาตรา 607

การแบ่งงานบางส่วนหรือทั้งหมดแก่ผู้รับจ้างช่วง

         ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่ บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำอีกทอดหนึ่งก็ได้ เว้นแต่สาระสำคัญแห่ง สัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง แต่ผู้รับจ้างคง ต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใด ๆ ของผู้รับจ้างช่วง


💙💚💛

ช่วง Bonus จากพี่เล้ง:😇 

ข้อสอบกฏหมายอัตนัย ค่อนข้างที่จะมีหลายบทมาตรา ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะสอบให้ผ่าน

พี่เล้งมีคำแนะนำดังต่อไปนี้ครับ

✅ฝึกทำข้อสอบอัตนัยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (หาข้อสอบจากลิ้งค์ของบทความของพี่เล้งได้ที่นี่)

✅ทำความเข้าใจกฏหมายมาตราหลักๆของหมวดวิชากฏหมายพา 1 โดยเฉพาะมาตราเน้น ให้ครอบคลุม ดูได้จากลิ้งค์นี้: 

✅่่ท่องมาตราเน้นให้ได้มากที่สุด เพราะมาตราที่ยกมานั้นเป็นส่วนแรกของตอบวิชากฏหมายเลยล่ะครับ

ข้อสอบอัตนัยมี 3 ส่วน ได้แก่

1 ท่อนแรก ยกบทกฏหมาย

2 ท่อนสอง วินิจฉัย

3 ท่อนท้าย สรุปธงคำตอบ

คลิกดู 💣 รูปแบบฟอร์มการตอบ

เพื่อเป็นกำลังใจให้สู้ต่อไป ท้อได้เป็นบางครั้ง แต่อย่าได้หยุดเดินต่อนะครับ

เป้าหมายมีไว้ให้พุ่งเข้าใส่ครับ ติดต่อพูดคุยกันได้นะครับ

ขอบคุณที่ติดตามบล็อกและเฟสบุคของ พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

สวัสดีครับ


ช่วยกด Like กด Share จะได้ช่วยกันเผยแพร่ให้พวกๆเรากันเองครับ

สไลด์ดูแนวข้อสอบอื่นๆ

ความคิดเห็น