เฉลยข้อสอบ แพ่ง 3 ข้อ 1 เรื่อง การหมั้น ว่าด้วยเรื่อง ครอบครัว มรดก | เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

  ข้อ 1 วิชากฏหมายแพ่ง 3 ดูเฉลยชิลๆ แต่วิชาการแน่นปึ๊กได้ที่นี่เลยครับ 

(อย่าพลาด! อ่านของฝากตอนท้าย)

สวัสดีครับเพื่อนๆ ผม พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ พบกับเฉลยข้อสอบเก่าของหมวดวิชากฏหมายแพ่ง 3 รหัส 41311 ครอบครัว มรดก


Tab ติดตามวิชากฏหมาย: Attorney's journey: หนทางนักกฏหมาย

โจทย์ ข้อ 1. หมั้น  

นาย ก ให้แหวนหมั้นนางสาว ข 1 วง และตกลงว่าจะสมรสกัน ต่อมานางสาว ข มาทราบภายหลังว่านาย ก เคยติดคุกคดีฆาตกรรมมาก่อน จึงเกิดความกลัวจึงบอกเลิกกับนาย ก และไปแต่งงานกับนายโค นาย ก จึงขอแหวนหมั้นคืนและเรียกให้นายโคชดใช้ค่าทดแทนได้หรือไม่




👉 เทคนิคก่อนทำข้อสอบต้องเขียน Flow chart ความเชื่อมโยงของบุคคลทั้งหมดตามโจทย์ให้ครบ จากนั้นดูต่อว่ามีบทมาตราไหนที่ต้องนำมาพิจารณาตามข้อเท็จจริงตามโจทย์

ถึงช่วง peak แล้วครับ ต้องทำอะไรบ้าง

1 ยกบทกฏหมายที่เข้ากับข้อเท็จ (พิจารณาข้อเท็จจริงและคำถามว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร)
2 วินิจฉัย (ยำเนื้อความตัวบทจากข้อ 1 เข้ากับข้อเท็จจริงตามโจทย์)
3 สรุป (ฟันธงตอบคำถามให้ตรงประเด็นตามโจทย์)

ตอบ

กรณีตามปัญหา ป.พ.พ. วางหลักว่า

มาตรา 1437 การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น 
 เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง...

มาตรา 1439  เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา 1444  ถ้าเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้น คู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น

มาตรา 1445  ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นแล้วตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี

ข้อเท็จจริงตามปัญหา การที่นาย ก ให้แหวนหมั้นแก่นางสาว ข และตกลงกันว่าจะสมรสกัน ถือว่าการหมั้นสมบูรณ์ ดังนั้นแหวนของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่นางสาว ข ตามมาตรา 1437 วรรคสอง

ต่อมาภายหลังการหมั้น นางสาว ข มาทราบภายหลังว่านาย ก เคยติดคุกมาก่อน ด้วยความกลัวจึงบอกเลิกสัญญาหมั้นกับนาย ก การบอกเลิกด้วยเหตุอันเกิดแต่ก่อนการหมั้นนั้นไม่ต้องด้วยกฏหมายตามมาตรา 1444 ซึ่งวางหลักว่าการทำชั่วอย่างร้ายแรงของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้น ดังนั้น เมื่อนางสาว ข บอกเลิกถือว่านางสาว ข ผิดสัญญาหมั้น นาย ก จึงมีสิทธิเรียกแหวนหมั้นคืนได้ตามมาตรา 1439

กรณีที่นาย ก เรียกให้นายโคชดใช้ค่าทดแทนนั้น หาทำได้ไม่ เพราะตามข้อเท็จจริง นางสาว ข ได้บอกเลิกสัญญาหมั้นกับนาย ก แล้ว นาย ก จะเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1445 นั้นไม่ได้เมื่อนายโคได้ร่วมประเวณีกับนางสาว ข จึงไม่ต้องด้วยหลักกฏหมายดังที่กล่าว

สรุป นาย ก ขอแหวนหมั้นคืนจากนางสาว ข ได้ แต่นาย ก จะเรียกค่าทดแทนจากนายโคนั้นไม่ได้

**
ช่วงเทคนิคแถมท้าย:😇 

ข้อสอบกฏหมายแพ่งค่อนข้างที่จะมีหลายบทมาตรา เพื่อนๆต้องท่องมาตราหน่วยเน้นให้ได้มากที่สุด เพราะอย่างแย่สุดๆ ถ้าเรายกมาตราถูกต้องก็สามารถทำคะแนนได้ในส่วนยกบทกฏหมาย

ส่วนวินิจฉัยถ้าทำได้ก็ดีเลิศประเสริฐศรีไป แต่ถ้าทำไม่ค่อยได้ ก็ขอให้ตอบในทำนองยึดหลักความยุติธรรมก็มีส่วนที่จะได้คะแนนเช่นเดียวกันครับ

เพราะกฏหมายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่เกิดปัญหาต่างๆขึ้นแล้ว จึงได้มีกฏหมายเกิดขึ้นตามมาเพื่อจัดการปัญหานั้นๆให้บริสุทธิ์ยุติธรรมต่อคู่กรณีทุกฝ่ายนั่นเองครับ

ขอให้เพื่อนๆโชคดีและได้รับปริญญาบัตรอย่างเร็ววันเร็วคืนครับ


ขอบคุณที่ติดตามบล็อกและเฟสบุคของ พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

สวัสดีครับ

ความคิดเห็น

  1. ขออนุญาาตฝากลิ้งค์ แนวข้อสอบใหม่ล่าสุดครับ https://youtu.be/QUS2hKslm0A

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น