เฉลยข้อสอบ พา 3 ข้อ 2 เรื่อง จำนอง ซ่อม 2/62 | เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

 ข้อสอบเก่าช่วยได้นะ ดูแนวการตอบ พา 3 มสธ รหัส 41323 เรื่องการจำนองกันครับ

สวัสดีครับเพื่อนๆ ผม พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ มีตัวอย่างทำเฉลยข้อสอบเก่าของหมวดวิชากฏหมายพาณิชย์ 3 ค้ำประกัน จำนอง ตั๋วเงิน ให้เพื่อนๆทดลองทำครับ

Tab ติดตามวิชากฏหมาย: Attorney's journey: หนทางนักกฏหมาย

โจทย์ ข้อ 2. (จำนอง)  

     นายมนัสจดทะเบียนจำนองที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งราคา 700,000 บาท ไว้กับนายดิเรกเพื่อประกันหนี้เงินกู้ที่นายอำพรเป็นลูกหนี้จำนวนเงิน 500,000 บาท ในระหว่างสัญญาจำนองนายมนัสได้จดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวไว้กับนายสมชัยเพื่อประกันหนี้เงินกู้ที่ นายสุชาติเป็นลูกหนี้จำนวนเงิน 500,000 บาท อีกครั้งหนึ่ง โดยนายดิเรกไม่ได้ยินยอมด้วย นายดิเรกเห็นว่าการจำนองครั้งหลังจะทำให้ตนเสียหายจึงมีความประสงค์จะฟ้องศาลขอให้ เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองครั้งหลังนั้น

ให้วินิจฉัยว่า นายดิเรกจะฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองครั้งหลังนั้นได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด


👉 ก่อนตอบนะครับ มีเทคนิคนิดนึงที่อยากจะบอกเพื่อนๆครับ โจทย์ข้อนี้เป็นคำถามข้อที่ 2 ของวิชากฏหมาย พา 3 เรื่องเกี่ยวกับ การจำนอง ดังนั้นก็ focus ไปที่เรื่องจำนองเท่านั้น มันจะได้ช่วยให้เราคิดในวงที่แคบลงจะได้ไม่หลงไปหลักกฏหมายอื่นนอกจากที่โจทย์ถาม จะทำให้เสียเวลาป่วยการในการวิเคราะห์โจทย์เสียเปล่าๆ



เพื่อนต้องคิดภาพเรื่องราวทั้งหมดโดยค่อยๆขีดเขียนเชื่อมโยงเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริงที่โจทย์ถามมาให้ได้ดังรูปตัวอย่างด้านบนครับ

พี่เล้งคิดว่าจะใช้เพียง 2 มาตราได้แก่มาตรา 709 และ มาตรา 712 ก็เหลือกินแล้วล่ะครับ 555

👩‍⚖️ มาตรา 709 จะเป็นหลักกฏหมายที่เข้ากับเรื่องการจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระก็ให้ทำได้

แปลง่ายๆสั้นๆว่า จำนองค้ำประกันคนอื่นที่ไม่ใช่ตนเองทำได้

👩‍⚖️ ส่วนมาตรา 712 เกี่ยวกับการใช้ทรัพย์อันเดียวกันจำนองหลายครั้งหรือหลายคน

แปลง่ายๆสั้นๆได้ว่า จำนองซ้ำสามารถทำได้

ตอบ

กรณีตามปัญหา ป.พ.พ. วางหลักว่า

มาตรา 709  บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ก็ให้ทำได้

มาตรา 712  แม้ถึงว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่นก็ตาม ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่บุคคลคนหนึ่งนั้น ท่านว่าจะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างเวลาที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้

ข้อเท็จจริงตามปัญหา การที่นายมนัสจดทะเบียนจำนองที่ดินมีโฉนดไว้กับนายดิเรกเพื่อประกันหนี้เงินกู้ที่นายอำพรเป็นลูกหนี้ และในระหว่างสัญญาจำนองนายมนัสได้จดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวไว้กับนายสมชัยเพื่อประกันหนี้เงินกู้ที่นายสุชาติเป็นลูกหนี้ในครั้งหลัง ถือว่านายมนัสจดทะเบียนจำนองที่ดินค้ำประกันเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระนั้นก็ให้ทำได้ โดยอ้างตามมาตรา 709

ในปัญหาที่ว่าการกับนายสมชัยเพื่อประกันหนี้เงินกู้ที่นายสุชาติเป็นลูกหนี้ในครั้งหลังซึ่งอยู่ระหว่างเวลาที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่นั้นนายสมชัยมีสิทธิทำได้หรือไม่ เมื่อกล่าวถึงหลัก มาตรา 712 จะเห็นได้ว่าการจำนองครั้งหลังนั้นผู้จำนองมีสิทธิที่จะกระทำการนั้นได้แม้ถึงว่าสัญญาจำนองสัญญาก่อนๆจะยังไม่หมดลงก็ตาม เพราะการจำนองนั้นผู้ที่รับจำนองในอันดับแรกย่อมมีสิทธิเหนือกว่าผู้รับจำนองอันดับหลังๆ ดังนั้นแม้เมื่อมีการบังคับจำนองเมื่อได้เงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองนั้นแล้ว ผู้ที่รับจำนองในอันดับก่อนย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค้ำประกันจำนองก่อนผู้รับจำนองอันดับหลังๆ 

สรุป นายดิเรกจะฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองครั้งหลังนั้นหาได้ไม่ เพราะกฏหมายบัญญัติไว้ให้ทำได้เนื่องจากการจำนองไม่เป็นการโอนกรรสิทธิ์ในทรัพย์ที่จำนอง ผู้จำนองจึงมีสิทธิที่จะนำทรัพย์อันดังกล่าวไปจำนองซ้ำได้
**

เทคนิคการอ่าน คือ 

1) อ่านเอกสารโสตทัศน์
2) ทำแบบประเมินก่อนเรียน
3) อ่านหน่วยเน้นในหัวข้อหลักที่มีมาตราสำคัญๆและทำความเข้าใจมาตรานั้นๆให้ clear
4) เขียนกิจกรรมท้ายบทหน่วยเน้น พร้อมกับทำความเข้าใจแบบไม่มีข้อสงสัย
5) ทำแบบประเมินหลังเรียนและค้นหาคำเฉลยในหน้าหนังสือให้เจอ
6) หาโจทย์อัตนัยข้อสอบเก่ามาฝึกทำ
7) ทำแบบประเมินก่อนเรียนและค้นหาคำเฉลยในหน้าหนังสือให้เจอ
8) ท่องมาตราหลักๆ และมาตราที่ออกสอบบ่อยๆ

ขอให้เพื่อนๆโชคดีในการเรียนและการสอบ ไปถึงฝันด้วยกันพร้อมกับผมนะครับ

ขอบคุณที่ติดตามบล็อกและเฟสบุคของ พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

สวัสดีครับ

ความคิดเห็น