เฉลยข้อสอบ แพ่ง 3 ข้อ 1 เรื่อง การหมั้น นายเอกชัยอายุ 24 ปีหมั้นหญิงอายุ 17 ปี | เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

     ข้อ 1 วิชากฏหมายแพ่ง 3 มสธ ในชีวิตจริง คุณให้ของหมั้น 2 ครั้ง จะได้มั๊ยอ่ะ??? 

(อย่าพลาด! Bonus จากพี่เล้งตอนท้าย)

สวัสดีครับเพื่อนๆ ผม พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ พบกับแนวเฉลยข้อสอบเก่าของหมวดวิชากฏหมายแพ่ง 3 รหัส 41311 ครอบครัว มรดก

Tab ติดตามวิชากฏหมาย: Attorney's journey: หนทางนักกฏหมาย

โจทย์ ข้อ 1 (หมั้นแล้วไม่ยอมสมรส)  

มาตราที่เกี่ยวข้องได้แก่ มาตรา 1435 , 1436 , 1437 , 1438 , 1439 , 1440 , 1457 , 1461

    นายเอกชัยอายุ 24 ปี ขอหมั้นนิดาอายุ 17 ปี โดยบิดามารดาของนิดาตกลงยินยอมด้วย เอกชัยสัญญาว่าจะนำเงินสดจำนวน 200,000 บาท และทองคำแท่งหนัก 10 บาท มามอบให้เป็นของหมั้น เมื่อถึงวันหมั้น เอกชัย มีเพียงเงินสด 100,000 บาท มามอบให้นิดา โดยสัญญาว่าจะนำเงินส่วนที่เหลือและทองคำแท่ง มาให้ในภายหลัง นอกจากนี้นายเอกชัยได้มอบเงินจำนวน 50,000 บาท แก่บิดามารดาเพื่อตอบแทนการที่นิดายอมสมรส

    1 เดือนต่อมา นายเอกชัยได้นำเพียงทองคำแท่งมามอบให้นิดาเท่านั้น เวลาผ่านไป 2 เดือน ทั้งคู่ได้เข้าพิธีสมรสกันตามประเพณี โดยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน นิดาไม่พอใจที่นายเอกชัยไม่นำเงินมามอบให้ครบถ้วนตามสัญญา จึงไม่ยอมร่วมหลับนอนด้วยและไม่ยอมไปจดทะเบียน นิดาไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับเอกชัย เอกชัยต้องการบอกเลิกสัญญาหมั้นและเรียกคืนทรัพย์สินทั้งหมดคืน

    จงให้คำปรึกษาแก่เอกชัย




👉 เทคนิคก่อนทำข้อสอบต้องเขียน Flow chart ความเชื่อมโยงของบุคคลทั้งหมดตามโจทย์ให้ครบ จากนั้นดูต่อว่ามีบทมาตราไหนที่ต้องนำมาพิจารณาตามข้อเท็จจริงตามโจทย์

ก่อนตอบทำ 3 ขั้นตอนด้านล่างนี้ก่อนครับ

1 ยกบทกฏหมายที่เข้ากับข้อเท็จ (พิจารณาข้อเท็จจริงและคำถามว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร)

2 วินิจฉัย (เรียบเรียงเนื้อความตัวบทจากข้อ 1 เข้ากับข้อเท็จจริงตามโจทย์)

3 สรุป (ฟันธงตอบคำถามให้ตรงประเด็นที่โจทย์ถาม)

แนวการตอบ

กรณีตามปัญหา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วางหลักว่า

     มาตรา 1435 วางหลักไว้ว่า การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว
การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ

     มาตรา 1436 ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้ 
(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
(2) บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มีมารดาหรือบิดาตายหรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่อยู่ในฐานะที่อาจจะให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาและบิดาได้
(3) ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
(4) ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม (1)(2)(3) หรือมีแต่ถูกถอดอำนาจปกครองไปแล้ว
การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ

    มาตรา 1437 การหมั้นจะสมบูรณ์ เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
    เมื่อหมั้นแล้ว ให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิของฝ่ายหญิง
    สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายได้ให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
    ถ้าจะต้องเรียกคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ให้นำบทบัญญัติมาตรา 412 ถึงมาตรา 418 แห่งประมวลนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ

    มาตรา 1438 การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

    มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ให้คืนของหมั้นให้แก่ชายด้วย

    มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจะเรียกได้ ดังต่อไปนี้
    (1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
    (2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดาหรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่น บิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้ในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
    (3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส
    ในกรณีที่หญิงเป็นผู้มีสิทธิได้ค่าทดแทน ศาลอาจชี้ขาดว่าของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่ฝ่ายหญิงนั้นเป็นค่าทดแทนทั้งหมดหรือเป็นส่วนหนึ่งของค่าทดแทนที่หญิงพึงจะได้รับ หรือ ศาลอาจให้ค่าทดแทนโดยไม่คำนึงถึงของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นก็ได้

    มาตรา 1461 วางหลักไว้ว่า สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา
    สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน


ข้อเท็จจริงตามปัญหา  การหมั้นของเอกชัยและนิดาสมบูรณ์ เพราะเอกชัยอายุเกิน 17 ปี และนิดาอายุ 17 ปีบริบูรณ์และได้รับความยินยอมจากบิดามารดา (มาตรา 1435,1436) แต่ของหมั้นนั้นมีเพียงเงินสด 100,000 บาท เท่านั้น เพราะได้ส่งมอบให้ในขณะหมั้น (มาตรา 1437) และตกเป็นสิทธิของนิดาทันที (มาตรา 1437) ส่วนทองคำแท่งไม่ใช่ของหมั้น แม้ต่อมาเอกชัยจะได้นำมามอบให้นิดาในภายหลังก็ตาม ก็เป็นเพียงการให้โดยเสน่หาเพราะไม่ได้มอบให้ในขณะหมั้น

    สำหรับเงินจำนวน 50,000 บาท ที่เอกชัยนำมามอบให้แก่บิดามารดาของนิดาเป็นสินสอดเพราะเป็นทรัพย์สินที่มอบให้แก่บิดามารดาของนิดาเพื่อตอบแทนการที่นิดายอมสมรส (มาตรา 1437)

    ต่อมาเอกชัยต้องการบอกเลิกสัญญาหมั้น โดยอ้างเหตุว่านิดาไม่ยอมร่วมหลับนอนด้วยนั้นไม่ได้ เพราะทั้งคู่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย จึงไม่มีหน้าที่ต้องอยู่กินกันฉันสามีภริยา (มาตรา1461) แต่การที่นิดาไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับเอกชัยเป็นการผิดสัญญาหมั้น (มาตรา 1439) เอกชัยจึงเรียกของหมั้นคือเงินสดจำนวน 100,000 บาท

    ส่วนเงินสดค่าสินสอดจำนวน 50,000 บาท เรียกคืนได้ (มาตรา 1437,1439) รวมทั้งค่าทดแทนหากมีความเสียหายตามมาตรา 1440 อีกด้วย

    แต่ทองคำแท่งไม่สามารถเรียกคืนได้ เพราะเป็นการให้โดยเสน่หาและไม่มีข้อเท็จจริงว่านิดาประพฤติเนรคุณแต่อย่างใด

สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่เอกชัยดังที่กล่าวมาข้างต้น ได้แก่

1. เรียกเงินสดของหมั้นคืนจำนวน 100,000 บาท
2. เรียกเงินสดสินสอดคืนจำนวน     50,000 บาท
3. ไม่สามารถเรียกคืนทองคำแท่งได้


***
ช่วง Bonus จากพี่เล้ง:😇 

ข้อสอบกฏหมายแพ่ง 3 ค่อนข้างที่จะมีหลายบทมาตรา ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะสอบให้ผ่าน

พี่เล้งมีคำแนะนำดังต่อไปนี้ครับ

✅ฝึกทำข้อสอบอัตนัยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (หาข้อสอบจากลิ้งค์ของบทความของพี่เล้งได้ที่นี่)
✅ทำความเข้าใจกฏหมายมาตราหลักๆของหมวดวิชากฏหมายแพ่ง 3 ให้ครอบคลุม ได้แก่ บรรพ 5 ครอบครัว และ บรรพ 6 มรดก
✅่่ท่องมาตราเน้นเพราะเป็นตัวช่วยที่จะทำให้เราได้คะแนนมาส่วน 1 ใน 3 ส่วนของการตอบแต่ละข้อสอบ

ข้อสอบอัตนัยมี 3 ส่วน ได้แก่

1 ท่อนแรก ยกบทกฏหมาย

2 ท่อนสอง วินิจฉัย

3 ท่อนท้าย สรุปธงคำตอบ

คลิกดู 💣 รูปแบบฟอร์มการตอบ

คำคมน่าคิด ช่วยสกิดให้เราเดินต่อไป

"กระแสน้ำไม่ไหลย้อนกลับเช่นไร วันเวลาก็เช่นเดียวกัน" 

Time and Tide Wait for No man.

เอ้า ฮึ๊บ...ไปต่อ 555


ขอบคุณที่ติดตามบล็อกและเฟสบุคของ พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

สวัสดีครับ

ความคิดเห็น

  1. ขออนุญาาตฝากลิ้งค์ แนวข้อสอบใหม่ล่าสุดครับ https://youtu.be/QUS2hKslm0A

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น