‍⚖️คู่มือร่างฟ้องคดีอาญา: ทีเด็ดเคล็ดเตรียมพร้อมการสอบ(ภาคทฤษฎี)ใบอนุญาตทนายความ | เล้งนัดสอน

### หลักในการร่างฟ้องคดีอาญา (ภาคทฤษฎี) เตรียมตัวสอบตั๋วทนายความ✨
จัดทำโดย: วรวิทย์ ลาภานิกรณ์ (เล้งถนัดสอน) 

👨‍🎓บริหารธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง 
👨‍🎓นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
🔹️Certificate of logistics from Pennsylvania university
👨‍🎓 หลักสูตรอบรมวิชาว่าความ สภาทนายความ

**ด้านล่างสุดมีตัวอย่างประกอบ
📌 สมัครสมาชิกเพื่อรับเนื้อหาใหม่ล่าสุด
📌 แชร์บล็อกนี้กับเพื่อนของคุณ
📌แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาด้านล่างโพสต์นี้

การร่างฟ้องคดีอาญา ถ้ามีฐานะคู่ความก็ต้องบรรยายฐานะคู่ความเช่นเดียวกับคดีแพ่ง จะมีข้อแตกต่างกัน คือ คดีแพ่งบรรยายฟ้องโดยไม่ต้องมีองค์ประกอบของกฎหมาย ส่วนคดีอาญากฎหมายบังคับว่า จะต้องบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบของกฎหมาย

ดังนั้นเมื่อจะฟ้องคดีเรื่องใด ต้องดูองค์ประกอบของกฎหมายก่อนว่า ข้อหาหรือความผิดนั้นมีองค์ประกอบความผิดอะไรบ้าง

องค์ประกอบความผิดของกฏหมายมีอะไรบ้าง

ก็เอามาจากตัวบทกฎหมายประมวลอาญาในแต่ละความผิดตามมาตราต่างๆ ว่า กฎหมายบัญญัติไว้เช่นไรบ้าง ดังนั้นจึงจะต้องร่างคำฟ้องคดีอาญาให้ครบองค์ประกอบความผิดด้วยการนำข้อเท็จจริงไปปรับให้เข้ากับข้อกฎหมายนะครับ

ความผิดทางอาญา มี 2 ประเภท คือ

1. ความผิดต่อแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ เช่น ฆ่าคน ชิงทรัพย์ ฯลฯ
2. ความผิดต่อส่วนตัว ยอมความได้ เช่น ยักยอกทรัพย์ หมิ่นประมาท ฯลฯ

บุคคลผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา จำแนกเป็น 2 ประเภท

1. พนักงานอัยการ
2. ผู้เสียหาย

เพิ่มเติมในส่วนผู้เสียหาย

ป.วิ.อ. มาตรา 5 "บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้"

(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น

โครงสร้าง รูปแบบ และหลักการบรรยายคำฟ้องอาญา

คำฟ้องอาญามีส่วนประกอบดังนี้ (หลักการจำ: 2 ข้อ 3 ย่อหน้า)

1 ชื่อคู่ความ (Name of the parties)
2 บอกสถานะโจทก์ - จำเลย  (Indicate the status of the plaintiff - defendant) - (ข้อ 1 ถ้าไม่มีไม่ต้องเขียน)
3 การกระทำความผิดของจำเลย (Act constituting an offense of the defendant)
   3.1 บรรยายข้อเท็จจริง (ข้อ 2 )
   3.2 บรรยายข้อกฎหมาย -  (ย่อหน้าที่ 1)
4 สถานที่เกิดเหตุ (Place of occurrence) - (ย่อหน้าที่ 2)
5 การร้องทุกข์ (Complaint) (ย่อหน้าที่ 3)
6 คำลงท้าย (Closing statement) 
7 คำขอท้ายฟ้อง (Final request of the lawsuit)

รูปแบบการเขียนคำตอบ คำฟ้องคดีอาญา



อธิบายการเขียนบรรยายส่วนต่างๆตามโครงสร้างการเขียนตอบคำฟ้องอาญา

1. ชื่อคู่ความ

การเขียนชื่อคู่ความ

 บรรทัดแรกเขียนชื่อโจทก์ บรรทัดใหม่เขียนชื่อจำเลย  กรณีที่มีโจทก์ /จำเลยมากกว่า 1 คน เมื่อเขียนชื่อแล้วต้องตามด้วย ที่ 1, ที่ 2 เช่น

ตัวอย่างที่ 1 การเขียนชื่อคู่ความ กรณีเป็นโจทก์และจำเลย เป็นบุคคลธรรมดาฟ้องเอง (Case where the plaintiff and defendant are natural persons)

โจทก์ / จำเลยคนเดียว
นายลูกชุบ หวานเจี๊ยบ                                                                            โจทก์
นางสาวองุ่น สดใส                                                                                 จำเลย

โจทก์ / จำเลย 2 คน
นายลอดช่อง แตงไท ที่ 1, นายแก้วเพชร เจ็ดสี ที่ 2                                โจทก์
นายมณี เรืองแสง ที่ 1, นายน้ำแข็ง หิมะ ที่ 2                                           จำเลย

ตัวอย่างที่ 2 การเขียนชื่อคู่ความ กรณีผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายเป็นโจทก์ และมารดาดำเนินการแทน

เด็กชายลูกไข่ ในหิน โดยนางโรตี ในหิน ผู้แทนโดยชอบธรรม                       โจทก์
นางนมสด เหนียวหนึบ                                                                                        จำเลย

ตัวอย่างที่ 3 การเขียนชื่อคู่ความ กรณีผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายแต่ให้มารดาเป็นทั้งโจทก์และดำเนินการแทน

นางโรตี ในหิน ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายลูกไข่ ในหิน ผู้เยาว์                     โจทก์
นาง นมสด เหนียวหนึบ                                                                                                            จำเลย

ตัวอย่างที่ 4 การเขียนชื่อคู่ความ กรณีผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายเป็นโจทก์ และบิดาชอบด้วยกฎหมายดำเนินการแทน

เด็กหญิงลูกแก้ว งามตา โดยนายบัวลอย งานตา ผู้แทนโดยชอบธรรม                       โจทก์
นายทองชั้น มันหยด                                                                                                      จำเลย

ตัวอย่างที่ 5 การเขียนชื่อคู่ความ กรณีผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายแต่ให้บิดาชอบด้วยกฎหมายเป็นทั้งโจทก์และดำเนินการแทน

นายบัวลอย งานตา ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงลูกแก้ว งามตา ผู้เยาว์                   โจทก์
นายทองชั้น มันหยด                                                                                                                          จำเลย

ตัวอย่างที่ 6 การเขียนชื่อคู่ความ กรณีผู้เยาว์และมารดาเป็นผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องร่วมกัน
(แนวข้อสอบทฤษฎีรุ่น 48)

นางลูกชุบ หวานเจี๊ยบ ที่ 1,  เด็กหญิงลูกแก้ว หวานเจี๊ยบ                                                              โจทก์
โดยนางลูกชุบ หวานเจี๊ยบ ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ 2                
นายตะโก้ ใบเตย ที่ 1, นางสาวชาเขียว ละมุน ที่ 2                                                                          จำเลย

ตัวอย่างที่ 7 การเขียนชื่อคู่ความ กรณีโจทก์เป็นนิติบุคคล ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์
(แนวข้อสอบทฤษฎีรุ่น 49)

สหกรณ์ออมทรัพย์ผู้ประกอบกิจการรถขนส่ง จำกัด โดยนางสาวลอดช่อง แตงไท                        โจทก์
นางสาวพิซซ่า หน้าชีส ที่ 1,  นางทุเรียน พูสวย ที่ 2                                                                      จำเลย
                                                                                                                   
ตัวอย่างที่ 8 การเขียนชื่อคู่ความ กรณีโจทก์เป็นนิติบุคคล ประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด
(แนวข้อสอบทฤษฎีรุ่น 50)

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตะวันโด่ง โดยนางฝอยทอง เส้นสวย  หุ้นส่วนผู้จัดการ                                    โจทก์
นายกล้วยทับ หอมหวาน                                                                                                              จำเลย
                                                                                                                   
ตัวอย่างที่ 9 การเขียนชื่อคู่ความ กรณีโจทก์เป็นบุคคลธรรมดาฟ้องจำเลยประเภทบริษัทจำกัด
(แนวข้อสอบทฤษฎีรุ่น 59)

นายฝอยทอง เส้นสวย ที่ 1, นางลอดช่อง เส้นสวย ที่ 2                                                                โจทก์
บริษัท รุ่งตะวันการก่อสร้าง จำกัด                                                                                              จำเลย

ตัวอย่างที่ 10 การเขียนชื่อคู่ความ กรณีโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดฟ้องจำเลยนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วน และหุ้นส่วนผู้จัดการ
(แนวข้อสอบทฤษฎีรุ่น 47)

บริษัท ข้าวขาว จำกัด ที่ 1 โดย นายกล้วยแขก หวานกรอบ กรรมการผู้จัดการ                            โจทก์
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ขัดสน ที่ 1, นายมณี เรืองแสง ที่ 2                                                                  จำเลย

ตัวอย่างที่ 11 การเขียนชื่อคู่ความ กรณีโจทก์เป็นบุคคลธรรมดามอบอำนาจ

นายลูกชุบ หวานเจี๊ยบ  โดยนางสาวลูกตาล ลอยแก้ว ผู้รับมอบอำนาจ          โจทก์
นางสาวองุ่น สดใส                                                                                         จำเลย

ตัวอย่างที่ 12 การเขียนชื่อคู่ความ กรณีผู้เสียหายตาย บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายจัดการแทน

นายบัวลอย งานตา ในฐานะทายาทโดยธรรมของนาวสาวลูกพลับ งามตา ผู้ตาย                         โจทก์
นายทองชั้น มันหยด                                                                                                                          จำเลย

2. บอกสถานะโจทก์ - จำเลย  (Indicate the status of the plaintiff - defendant)

สถานะคู่ความ คดีอาญา จำแนกโจทก์เป็น 2 กรณี
    กรณีที่ 1 โจทก์เป็นผู้เสียหายฟ้องเอง คือ เป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรือ
    กรณีที่ 2 ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้อง ซึ่งกรณีนี้จะต้องบรรยายขยายความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของผู้มีอำนาจจัดการแทนด้วย

หลักการบรรยายสถานะโจทก์ / จำเลย   
  2.1 บรรยายสถานะของโจทก์ก่อนแล้วจึงบรรยายสถานะของจำเลย
 
 2.2กรณีที่โจทก์หรือจำเลยเป็นบุคคลธรรมดาไม่ต้องบรรยายสถานะ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
     - กรณีบิดา/มารดา จัดการแทนบุตร
     - สามี/ภริยา จัดการแทนกัน
     - บุตรจัดการแทนบิดา/มารดา
     - โจทก์มอบอำนาจ
     - การบรรยายสถานะที่เกี่ยวกับฐานความผิด เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท
     - การบรรยายสถานะที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท

ตัวอย่างที่ 1 การบรรยายสถานะกรณีโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภรรยากัน และภรรยาโจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้สามีดำเนินการแทน / จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด
(แนวข้อสอบทฤษฎีรุ่น 59)

   ข้อ 1 โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ณ ที่ว่าการอำบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ รายละเอียดปรากฏตามใบสำคัญสมรสเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1
   ในการดำเนินคดีนี้ โจทก์ที่ 2 ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ดำเนินคดีแทน รายละเอียดปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2
   จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง รายละเอียดปรากฏตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3   
   จำเลยเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างจากกรมทางหลวงเพื่อซ่อมแซมสะพาน ทางหลวงหมายเลข...สาย...ตำบล...อำเภอ...จังหวัด...รายละเอียดปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายสัญญาจ้างเลขที่ ...-...เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4 

ตัวอย่างที่ 2 การบรรยายสถานะกรณีโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด / จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์
(แนวข้อสอบทฤษฎีรุ่น 56)

   ข้อ 1 โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มี นายป้งกรอบ หอมไกลเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ได้ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ...รายละเอียดปรากฏตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1
   จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ ทำหน้าที่พนักงานขาย รายละเอียดปรากฏตามสัญญาจ้าง เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2

ตัวอย่างที่ 3 การบรรยายสถานะกรณีโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด
(แนวข้อสอบทฤษฎีรุ่น 54)

   ข้อ 1 โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มี นายกล้วยแขก หวานกรอบ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญกระทำการแทนโจทก์ได้ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการ...รายละเอียดปรากฏตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1

ตัวอย่างที่ 4 การบรรยายสถานะกรณีโจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับทรัพย์มรดก
(แนวข้อสอบทฤษฎีรุ่น 52)

   ข้อ 1 โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนาง...ผู้ตาย ตามพินัยกรรม รายละเอียดปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายพินัยกรรมและคำสั่งศาล เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 และ 2

ตัวอย่างที่ 5 การบรรยายสถานะกรณีโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์
(แนวข้อสอบทฤษฎีรุ่น 49)

   ข้อ 1 โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้และรับจำนองซึ่งทรัพย์แก่สมาชิก ฯลฯ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารจดทะเบียนสหกรณ์ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1
   โจทก์ได้มอบหมายให้ นายบัวลอย ไข่หวาน ผู้จัดการสหกรณ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนสหกรณ์ได้ตามกฎหมาย มีอำนาจกระทำนิติกรรมเกี่ยวกับบุคคลภายนอกและการฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา รายละเอียดปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2

ตัวอย่างที่ 6 การบรรยายสถานะกรณีโจทก์เป็นมารดาผู้เยาว์

ข้อ 1 โจทก์เป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงแอบเปิ้ล สดใส ซึ่งเป็นผู้เยาว์ อายุ 14 ปี โจทก์จึงเป็นผู้แทนโดยธรรมของเด็กหญิงแอบเปิ้ล สดใสมีอำนาจฟ้องร้องและดำเนินคดีแทนได้ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาสูติบัตรเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1

ตัวอย่างที่ 7 การบรรยายสถานะกรณีโจทก์เป็นผู้เยาว์และมารดาเป็นผู้ดำเนินคดี

ข้อ 1 โจทก์เป็นผู้เยาว์อายุ 15 ปี มีนางทุเรียน พูสวย เป็นมารดาชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นผู้แทนโดยธรรมของโจทก์มีอำนาจฟ้องร้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาสูติบัตรเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1

ตัวอย่างที่ 6 การบรรยายสถานะกรณีผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายเป็นโจทก์และบิดาชอบด้วยกฎหมายดำเนินคดีแทน

ข้อ 1 โจทก์เป็นผู้เยาว์อายุ 15 ปี มีนายบัวลอย ไข่หวาน เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสกับนางสิ้นจี่ ไข่หวาน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สำนักงานเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร นายบัวลอย ไข่หวาน จึงเป็นผู้แทนโดยธรรมของโจทก์ มีอำนาจฟ้องร้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาใบสำคัญการสมรสของบิดามารดาโจทก์และใบสูติบัตรเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 และ 2

*ข้อสังเกต กรณีที่บิดาจะดำเนินคดีแทนโจทก์ผู้เยาว์ได้ต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายจดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เยาว์นั้นด้วย

ตัวอย่างที่ 7 การบรรยายสถานะกรณีผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายให้บิดาชอบด้วยกฎหมายเป็นโจทก์และดำเนินการแทน

ข้อ 1 โจทก์เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงแอบเปิ้ล ไข่หวาน ซึ่งเป็นผู้เยาว์ อายุ 14 ปี โดยโจทก์จดทะเบียนสมรสกับนางสิ้นจี่ ไข่หวานเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สำนักงานเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงเป็นผู้แทนโดยธรรมของเด็กหญิงแอบเปิ้ล ไข่หวาน มีอำนาจฟ้องร้องและดำเนินคดีแทนได้ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาใบสำคัญการสมรส และใบสำเนาสูติบัตรเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 และ 2

ตัวอย่างที่ 8 การบรรยายสถานะกรณีผู้เสียหายตาย บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายจัดการแทน

ข้อ 1 โจทก์เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงแอบเปิ้ล ไข่หวาน ซึ่งเป็นผู้เยาว์ อายุ 14 ปี โดยโจทก์จดทะเบียนสมรสกับนางสิ้นจี่ ไข่หวานเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สำนักงานเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงเป็นผู้แทนโดยธรรมของเด็กหญิงแอบเปิ้ล ไข่หวาน มีอำนาจฟ้องร้องและดำเนินคดีแทนได้ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาใบสำคัญการสมรส และใบสำเนาสูติบัตรเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 และ 2

ตัวอย่างที่ 9 การบรรยายสถานะกรณีความผิดเกี่ยวกับชื่อเสียง

ข้อ 1 โจทก์จบการศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัย...เมื่อ พ.ศ. 2566 และเป็นผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง...รายละเอียดปรากฏตามสำเนาใบปริญญาบัตรและซีดีบันทึกรายการออกอากาศเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 และ 2

ตัวอย่างที่ 10 การบรรยายสถานะกรณีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์พิพาท-ลิขสิทธิ์

ข้อ 1 โจทก์เป็นผู้แต่งหนังสือชื่อ "เจ้าชายกบกับผีเสื้อน้อยในป่าใหญ่" ได้จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ อักษรศิลป์การพิมพ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2565 เป็นต้นมาเป็นถึงปัจจุบัน โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิ์ในหนังสือดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว รายละเอียดปรากฏตามสำเนาสัญญารับค่าลิขสิทธฺ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1

3. การกระทำความผิดของจำเลย (Act constituting an offense of the defendant)

การบรรยายการกระความผิดของจำเลยของจำเลย จำแนกการกระทำผิดได้ 2 กรณีได้แก่

1 กระทำโดยเจตนา หรือ
2 กระทำโดยความประมาทเลินเล่อ

จำเลยกระทำโดยเจตนา บรรยายว่า จำเลยได้บังอาจ/เจตนากระทำความผิดต่อกฎหมายด้วยการ

   3.6 (ประมาทเลินเล่อ) บรรยายว่า จำเลยได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ยี่ห้อ มุ่งหน้าไป ด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจำต้องมีวิสัยและพฤติการณ์ กล่าวคือ...

 💥 บรรยายให้ครบองค์ประกอบความผิดของกฎหมายโดยดูมาตราที่คำถามให้มาด้านท้ายสมุดคำถาม

การบรรยายท่อนนี้จะขึ้นต้นดังนี้

3.1 เขียนบรรยายข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ .....เวลา...(กลางวัน/ กลางคืนก่อนเที่ยง / กลางคืนหลังเที่ยง / เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน)..จำเลยได้บังอาจ............................ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
3.2 เขียนบรรยายข้อกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการ.....................อันเป็นความผิดต่อกฎหมาย


ตัวอย่างที่ 1 การบรรยายท่อนการกระทำความผิดของจำเลย - การกระทำความผิดด้วยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น


   ข้อ 1. จำเลยนี้ได้บังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 เวลา
กลางวัน จำเลยได้บังอาจใช้บัตรเครดิตเอ็กเพรสการ์ดเลขที่ 7777 4444 5555 1234 ซึ่งธนาคาร ไทยกรุงเก่า จำกัด (มหาชน) ได้ออกให้แก่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิใช้บัตรเครดิตหรือนำข้อมูลในบัตรเครดิตไปชำระค่า
สินค้า ค่าบริการ หรือหนี้อื่นแทนการชำระเงินสด ไปซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซด์ www.ต้องซื้อ.com สำหรับขายสินค้าออนไลน์โดยจำเลยได้นำเลขบัตรเครดิต วันหมดอายุบัตรเครดิตและเลขรหัสหลังบัตรเครดิตของโจทก์ไปซื้อสินค้าออนไลน์จากบริษัท 24Direct จำกัด ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง
วันที่ 4 มกราคม 2566 จำนวน 4 ครั้ง คิดเป็นเงินจำนวน 123,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นสามพัน
บาทถ้วน) โดยโจทก์มิได้ยินยอมและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้อื่นหรือประชาชน
   ข้อ 2. การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบและเป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

ตัวอย่างที่ 2 การบรรยายท่อนการกระทำความผิดของจำเลย - การกระทำความผิดฐานกระทำการโดยประมาท

  ข้อ 2. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 เวลากลางคืน จำเลยด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่ง
บุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และอาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้
เพียงพอไม่ กล่าวคือ จำเลยเป็นผู้รับจ้างเหมาจากเทศบาลเมืองบางแก้วเพื่อซ่อมแซมสะพานลอยคนข้ามซึ่งใช้งานมากว่า 30 ปี การซ่อมแซมต้องรื้อผิวสะพานลอย โดยจำเลยได้รถเครนยกแผ่นคอนกรีตเพื่อวางเรียงกันแทนพื้นผิวสะพานลอยเดิมที่สกัดออก ในจุดที่ทำการซ่อมแซมนั้นบริเวณด้านล่างมีการจราจรที่มีรถยนต์แล่นสัญจรไปมา จำเลยต้องจัดให้มีวิศวกรควบคุมงานซ่อมแซมและกำกับดูแลคนงานของจำเลยให้ทำงานด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันมิให้มีวัตถุใด ๆ ร่วงหล่นลงไปบนผิวการจราจรด้านล่าง ซึ่งจะทำ
ให้รถยนต์ที่สัญจรอยู่ด้านล่างได้รับอันตราย และจำเลยสามารถกระทำเช่นนั้นได้ แต่หาได้กระทำเช่นนั้นไม่
ทำให้รถเครนที่สูง 9 เมตรขณะที่ยกแผ่นคอนกรีตอยู่ขอบสะพานขนาดกว้าง 1.5 เมตร ยาว 6 เมตร หนา 0.6 เมตร ล้มลงมาตรงกลางหลังคารถยนต์ของโจทก์ที่กำลังแล่นลอดใต้สะพานลอย ทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นราคาค่าซ่อม 200,000 บาท และโจทก์ได้รับบาดเจ็บโหนกแก้มขวาแตกเย็บ 10 เข็ม แขนขวาหัก 2 ท่อน ปอดช้ำและมีเลือดคั่งจากแรงกระแทกของพวกมาลัยรถ รายละเอียดปรากฏตามแผนที่สถานที่เกิดเหตุ ใบรายงานการตรวจสอบรถยนต์ของศูนย์บริการรถยนต์ และใบรับรองแพทย์ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4 ถึง 6 ตามลำดับ
   การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายและทำให้โจทก์ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

4 สถานที่เกิดเหตุ (Place of occurrence)

เป็นย่อหน้าที่ต้องเขียนระบุสถานที่เกิดเหตุ หรือสถานที่ที่จำเลยกระทำความผิด ซึ่งจะเป็นชุดข้อความ 2 ชุด คือ เหตเกิดในกรุงเทพมหานคร หรือเหตุเกิดจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง

เหตุเกิดที่ ตำบล/แขวง อำเภอ/เขต จังหวัด

ตัวอย่างที่ 1 การบรรยายท่อนสถานที่เกิดเหตุ - เหตุเกิดที่ กรุงเทพมหานคร

เหตุเกิดที่ แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร


ตัวอย่างที่ 2 การบรรยายท่อนสถานที่เกิดเหตุ - เหตุเกิดที่ ต่างจังหวัด(สมุทรปราการ)

เหตุเกิดที่ ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

5 การร้องทุกข์ (Complaint)

เป็นท่อนที่ผู้เข้าสอบจะต้องบรรยายว่าในคดีที่เขียนคำฟ้องอยู่นี้นั้น โจทก์ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้หรือไม่ ดังนั้น ท่อนนี้จะมีข้อความเพียง 2 ชุดเท่านั้นคือ 

1. โจทก์ร้องทุกข์ไว้แล้ว

ตัวอย่าง: โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจบางแก้วไว้แล้ว แต่การสอบสวนไม่คืบหน้า จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลด้วยตนเอง 

2. โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์

ตัวอย่าง: โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเนื่องจากประสงค์จะดำเนินคดีเอง

6 คำลงท้าย (Closing statement)

คำลงท้ายเป็นชุดคำเขียนมาตรฐานที่เขียนเหมือนกันหมดทั้งการเขียนฟ้องแพ่งหรือฟ้องอาญา โดยเขียนตรงกลางหน้ากระดาษ

ตัวอย่าง:                                              ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

7 คำขอท้ายฟ้อง (Final request of the lawsuit)

เป็นท่อนท้ายสุดของเรื่องการเขียนคำฟ้องอาญา ซึ่งเนื้อความจะประกอบไปด้วยข้อความเพียง 2 ชุดได้แก่

1 ข้อความมาตรฐาน (คงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือแปรผัน) ได้แก่

คำขอท้ายฟ้องอาญา

ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ...

2 ข้อความที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือแปรผันไปตามความผิดที่จำเลยกระทำความผิดอาญาซึ่งจะมีมากับโจทย์คำถามบรรทัดท้ายสุด ได้แก่เลขมาตรา

ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 330,310


ความคิดเห็น