เฉลยแนวข้อสอบ พา 1 ภาค 1/63 ข้อ 1 ส้มทำหนังสือสัญญาขายข้าวเปลือก 100 ถัง ให้แก่มะนาว...| เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

พา 1 ข้อ 1 มสธ เรื่อง การซื้อขายทรัพย์สินที่ยังไม่ได้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอน ทำได้ 1 ข้อ โอกาสสอบตกน้อยนะ ไปดูการตอบกันเลย

Flow โจทย์แนวข้อสอบ พา 1 มสธ

(มีข้อแนะนำดีๆช่วงท้ายอย่าลืมดูนะครับ)

สวัสดีครับเพื่อนๆ ผม พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ วันนี้มีแนวข้อสอบพา 1 รหัส 41321 ข้อ 1 สัญญาซื้อขายมาเฉลยเป็นแนวทำข้อสอบอัตนัยครับ


โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ที่มีตัวตุ๊กตาทำสัญญาซื้อขายกัน ซึ่งเพื่อนๆต้องพิจารณาโจทย์ให้ดีก่อนลงมือเขียนคำตอบครับ เช่น พิจารณาพฤติการณ์ตามข้อเท็จของโจทย์นั้นน่ะ ประกอบไปด้วยใคร ทำอะไร และมีผลให้เกิดสัญญาซื้อขายแบบใด และที่สำคัญต้องยกบทมาตราที่สอดคล้องเข้ากันกับโจทย์ครับ หรือพูดง่ายๆคือ บุคคลในโจทย์เขาทำอะไรที่มันตรงกับข้อกฏหมายที่จะนำมาพิจารณาในการตอบนั่นเองครับ

Tab ติดตามวิชากฏหมาย: Attorney's journey: หนทางนักกฏหมาย

โจทย์ ข้อ 1 (สัญญาซื้อขายยังไม่ได้กำหนดราคา)  

บทกฏหมายที่เกี่ยวข้อง: มาตรา 459, 460 และประกอบด้วย มาตรา 219

ส้มทำหนังสือสัญญาขายข้าวเปลือก 100 ถัง ให้แก่มะนาว โดยมีข้อตกลงว่าข้าวเปลือกนั้นยังเป็นของส้มอยู่จนกว่ามะนาวจะชำระราคาครบถ้วนแล้ว ส้มได้ขนส่งข้าวเปลือกไปส่งมอบยังยุ้งข้าวของมะนาวแล้วจำนวน 80 ถัง ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ ข้าวเปลือกในยุ้งข้าว 80 ถังนั้นเสียหายทั้งหมด ส้มเรียกให้มะนาวชำระราคาข้าวเปลือก 80 ถังนั้น

เช่นนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า มะนาวมีข้อต่อสู้อย่างไร หรือไม่ (20 คะแนน)



👉 เทคนิคก่อนทำข้อสอบต้องเขียน Flow chart ความเชื่อมโยงของบุคคลทั้งหมดตามโจทย์ให้ครบ จากนั้นดูต่อว่ามีบทมาตราไหนที่ต้องนำมาพิจารณาตามข้อเท็จจริงตามโจทย์

ก่อนตอบทำ 3 ขั้นตอนด้านล่างนี้ก่อนครับ

1 ยกบทกฏหมายที่เข้ากับข้อเท็จ (พิจารณาข้อเท็จจริงและคำถามว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร)

2 วินิจฉัย (เรียบเรียงเนื้อความตัวบทจากข้อ 1 เข้ากับข้อเท็จจริงตามโจทย์)

3 สรุป (ฟันธงตอบคำถามให้ตรงประเด็นที่โจทย์ถาม)

แนวการตอบ

กรณีตามปัญหา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วางหลักว่า

มาตรา 459  ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น

มาตรา 460 ในการซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนนั้น ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้หมาย หรือนับ ชั่ง ตวง วัด หรือคัดเลือก หรือทำโดยวิธีอื่นเพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นแน่นอนแล้ว
ในการซื้อขายทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง ถ้าผู้ขายยังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างอื่น หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินเพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอน ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าการหรือสิ่งนั้นได้ทำแล้ว

มาตรา 219  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น
ถ้าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วนั้น ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ไซร้ ท่านให้ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยฉะนั้น

ข้อเท็จจริงตามปัญหา การที่ส้มทำหนังสือสัญญาขายข้าวเปลือก 100 ถัง ให้แก่มะนาว โดยมีข้อตกลงว่าข้าวเปลือกนั้นยังเป็นของส้มอยู่จนกว่ามะนาวจะชำระราคาครบถ้วนแล้วนั้น เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น ดังนั้นเมื่อการส่งข้าวเปลือกยังไม่ครบ 100 ถังกรรมสิทธิ์ในข้าวเปลือกทั้งหมดจึงยังเป็นของส้มอยู่

ต่อมาส้มได้ขนส่งข้าวเปลือกไปส่งมอบยังยุ้งข้าวของมะนาวแล้วจำนวน 80 ถัง ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ ข้าวเปลือกในยุ้งข้าว 80 ถังนั้นเสียหายทั้งหมดนั้น ถือได้ว่าข้าวเปลือก 80 ถังดังกล่าวเป็นการซื้อขายทรัพย์สินซึ่งได้กำหนดลงไว้แน่นอนแล้วจึงเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง เพราะได้ทำการตวงเป็นจำนวน 80 ถังบ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นแน่นอนแล้วและส่งไปยังยุ้งของมะนาว

สำหรับกรณีที่ข้าวเปลือกในยุ้งข้าว 80 ถังนั้นเสียหายทั้งหมดนั้นเพราะน้ำท่วมใหญ่นั้น เป็นพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย มะนาวจึงไม่ต้องชำระหนี้ดังกล่าวตาม ปพพ.219

สรุป  ข้าพเจ้าวินิจฉัยว่ามะนาวมีข้อต่อสู้ไม่ต้องชำระหนี้ที่กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะน้ำท่วมใหญ่ดังกล่าวมาแต่ต้น

***

ช่วง Bonus จากพี่เล้ง:😇 

ข้อสอบกฏหมายอัตนัย ค่อนข้างที่จะมีหลายบทมาตรา ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะสอบให้ผ่าน

พี่เล้งมีคำแนะนำดังต่อไปนี้ครับ

✅ฝึกทำข้อสอบอัตนัยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (หาข้อสอบจากลิ้งค์ของบทความของพี่เล้งได้ที่นี่)

✅ทำความเข้าใจกฏหมายมาตราหลักๆของหมวดวิชากฏหมายพา 1 โดยเฉพาะมาตราเน้น ให้ครอบคลุม ดูได้จากลิ้งค์นี้: 

✅่่ท่องมาตราเน้นให้ได้มากที่สุด เพราะมาตราที่ยกมานั้นเป็นส่วนแรกของตอบวิชากฏหมายเลยล่ะครับ

ข้อสอบอัตนัยมี 3 ส่วน ได้แก่

1 ท่อนแรก ยกบทกฏหมาย

2 ท่อนสอง วินิจฉัย

3 ท่อนท้าย สรุปธงคำตอบ

คลิกดู 💣 รูปแบบฟอร์มการตอบ

เพื่อเป็นกำลังใจให้สู้ต่อไป ท้อได้เป็นบางครั้ง แต่อย่าได้หยุดเดินต่อนะครับ

เป้าหมายมีไว้ให้พุ่งเข้าใส่ครับ ติดต่อพูดคุยกันได้นะครับ

ขอบคุณที่ติดตามบล็อกและเฟสบุคของ พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

สวัสดีครับ


ช่วยกด Like กด Share จะได้ช่วยกันเผยแพร่ให้พวกๆเรากันเองครับ

สไลด์ดูแนวข้อสอบอื่นๆ

ความคิดเห็น