เฉลยข้อสอบ แพ่ง 3 ข้อ 1 เรื่อง การสมรส นายแก้วจดทะเบียนสมรสกับนางขวัญแล้วแอบลักลอบ...| เล้งถนัดสอน

          ข้อ 1 วิชากฏหมายแพ่ง 3 มสธ - ชายสมรสแล้วลักลอบได้เสียกับหญิงอื่นผลต่างๆเป็นอย่างไร? 

(มีข้อแนะนำดีๆช่วงท้ายอย่าลืมดูนะครับ)

สวัสดีครับเพื่อนๆ ผม พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ วันนี้มีแนวข้อสอบแพ่ง 3 รหัส 41311 ข้อ 1 การสมรสเฉลยเป็นแนวทำคำตอบอัตนัยครับ

โจทย์ข้อนี้มีตัวตุ๊กตาหลายตัวทีเดียวครับ แม้จะค่อนข้างยาก เพื่อนๆก็สามารถดูแนวการตอบนี้และจำเอาไปใช้ทำคำตอบกันนะครับ


ข้อสอบแพ่ง 3 มสธ


Tab ติดตามวิชากฏหมาย: Attorney's journey: หนทางนักกฏหมาย

โจทย์ ข้อ 1 (หญิงอายุ 18 ไม่ได้รับความยินยอมจากบิดาสมรสกันไม่ได้)  

บทกฏหมายที่เกี่ยวข้อง: มาตรา 1436 , 1452 , 1454 , 1495 และ 1536

นายแก้วจดทะเบียนสมรสกับนางขวัญแล้วแอบลักลอบได้เสียกับนางน้ำผึ้งอีกจนนางน้ำผึ้งตั้งครรภ์ นายแก้วและนางน้ำผึ้ง จึงพากันไปแอบจดทะเบียนสมรสที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้วมิได้ติดต่อพบปะกันอีกเลย จนกระทั้งนางน้ำผึ้งคลอดบุตรสาว คือ นางสาวน้ำฝน ในขณะนี้นางสาวน้ำฝนมีอายุได้ 18 ปี นางสาวน้ำฝนประสงค์จะสมรสกับนายกอแระ อายุ 21 ปี ซึ่งเป็นพ่อหม้ายภริยาเพิ่งถึงแก่ความตายเมื่อเดือน เมษายน 2561 นางน้ำผึ้งจึงพานางสาวน้ำฝน และนายกอแระ ไปที่สำนักงานเขตบางรัก เพื่อขอจดทะเบียนสมรส ดังนี้

ถ้าท่านเป็นผู้อำนวยการเขตบางรักท่านจะจดทะเบียนสมรสให้กับนางสาวน้ำฝนและนายกอแระหรือไม่ เพราะเหตุใด


👉 เทคนิคก่อนทำข้อสอบต้องเขียน Flow chart ความเชื่อมโยงของบุคคลทั้งหมดตามโจทย์ให้ครบ จากนั้นดูต่อว่ามีบทมาตราไหนที่ต้องนำมาพิจารณาตามข้อเท็จจริงตามโจทย์

ก่อนตอบทำ 3 ขั้นตอนด้านล่างนี้ก่อนครับ

1 ยกบทกฏหมายที่เข้ากับข้อเท็จ (พิจารณาข้อเท็จจริงและคำถามว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร)

2 วินิจฉัย (เรียบเรียงเนื้อความตัวบทจากข้อ 1 เข้ากับข้อเท็จจริงตามโจทย์)

3 สรุป (ฟันธงตอบคำถามให้ตรงประเด็นที่โจทย์ถาม)

แนวการตอบ

กรณีตามปัญหา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วางหลักว่า


มาตรา 1436 ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับการยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้
(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดาและมารดา
(2) บิดาหรือมารดา ในกรณีที่บิดาหรือมารดาตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้
(3) ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
(4) ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม (1)(2)(3) หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง

การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ

มาตรา 1452 ชายหรือหญิงจะทำการสมรสกันในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา 1454 ผู้เยาว์จะทำการสมรส ให้นำความในมาตรา 1436 มาใช้โดยอนุโลม

มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ

มาตรา 1536 เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือผู้เคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาบังคับใช้แก่บุตรที่เกิดจากหญิงก่อนที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะหรือภายในระยะเวลาสามร้อยสิบวันนับแต่วันนั้น

ข้อเท็จจริงตามปัญหา แม้การจดทะเบียนสมรสระหว่างนายแก้วกับนางน้ำผึ้งจะเป็นการสมรสซ้อนมีผลเป็นโมฆะก็ตาม แต่นางสาวน้ำฝนก็ยังถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายแก้วตามมาตรา 1536 วรรคสอง และเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางน้ำผึ้งด้วย การที่นางสาวน้ำฝนมิได้พบปะหรือติดต่อนายแก้ว มิได้มีผลต่อการเป็นบิดากับบุตร นางสาวน้ำฝนอายุ 18 ปี ยังเป็นผู้เยาว์จะทำการสมรสต้องได้รับความยินยอมจากทั้งนายแก้วและนางน้ำผึ้งซึ่งเป็นบิดาและมารดาตามมาตรา 1454 ประกอบมาตรา 1436

ส่วนนายกอแระอายุ 21 ปี บรรลุนิติภาวะแล้วจึงสามารถทำการสมรสได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา และแม้นายกอแระจะเป็นชายหม้ายเพิ่งขาดจากการสมรสไม่ถึงสามร้อยสิบวันก็ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 1453 มิให้ทำการสมรสแต่อย่างใด นายกอแระมีสิทธิที่จะทำการสมรสได้

แต่เนื่องจากนางสาวน้ำฝนไม่ได้รับความยินยอมจากนายแก้วผู้เป็นบิดาจึงทำให้นายกอแระและนางสาวน้ำฝนไม่สามารถทำการสมรสกันได้


สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้อำนวยการเขตบางรัก ข้าพเจ้าไม่สามารถจดทะเบียนสมรสให้บุคคลทั้งสองได้ด้วยเหตุผลดังกล่าว
***

โจทย์ข้อนี้แม้จะเป็นโจทย์ข้อแรกที่โดยปกติเราคิดว่าจะต้องง่ายกว่าข้ออื่นๆ แต่ไม่ใช่เลยครับ ตามโจทย์มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกันถึง 7 บุคคลด้วยกัน 

เพราะฉะนั้นเพื่อนๆที่เจอโจทย์แบบนี้จะต้องเขียนเส้น chart ความสัมพันธ์และการกระทำของบุคคลต่างๆให้ได้ก่อนครับ จากนั้นจึงค่อยพิจารณาตัวบทกฏหมายที่ match กับ act ของแต่ละบุคคลครับ

ซึ่งพี่เล้งก็ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วที่รูปด้านบนครับ

ช่วง Bonus จากพี่เล้ง:😇 

ข้อสอบกฏหมายแพ่ง 3 ค่อนข้างที่จะมีหลายบทมาตรา ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะสอบให้ผ่าน

พี่เล้งมีคำแนะนำดังต่อไปนี้ครับ

✅ฝึกทำข้อสอบอัตนัยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (หาข้อสอบจากลิ้งค์ของบทความของพี่เล้งได้ที่นี่)

✅ทำความเข้าใจกฏหมายมาตราหลักๆของหมวดวิชากฏหมายแพ่ง 3 ให้ครอบคลุม ได้แก่ บรรพ 5 ครอบครัว และ บรรพ 6 มรดก

✅่่ท่องมาตราเน้นเพราะเป็นตัวช่วยที่จะทำให้เราได้คะแนนมาส่วน 1 ใน 3 ส่วนของการตอบแต่ละข้อสอบ

ข้อสอบอัตนัยมี 3 ส่วน ได้แก่

1 ท่อนแรก ยกบทกฏหมาย

2 ท่อนสอง วินิจฉัย

3 ท่อนท้าย สรุปธงคำตอบ

คลิกดู 💣 รูปแบบฟอร์มการตอบ

เพื่อเป็นกำลังใจให้สู้ต่อไป ท้อได้เป็นบางครั้ง แต่อย่าได้หยุดเดินต่อนะครับ

เป้าหมายมีไว้ให้พุ่งเข้าใส่ครับ ติดต่อพูดคุยกันได้นะครับ

ขอบคุณที่ติดตามบล็อกและเฟสบุคของ พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

สวัสดีครับ


ช่วยกด Like กด Share จะได้ช่วยกันเผยแพร่ให้พวกๆเรากันเองครับ

สไลด์ดูแนวข้อสอบอื่นๆ

ความคิดเห็น