เฉลยข้อสอบ พา 3 ข้อ 3 เรื่อง ตั๋วเงินและเช็ค ซ่อม 2/62 | เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

 ข้อ 3 วิชากฏหมายพา 3 นั้นเขาว่ายากกว่าม๊ากมาก แต่ถ้ารู้หลัก เรื่อง "ตั๋วเงิน" แล้วมันจะกลายเป็นข้อที่ง่ายได้ครับ (อย่าพลาดของฝากตอนท้ายๆนะ เสียดายแทนเลย)

สวัสดีครับเพื่อนๆ ผม พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ มีตัวอย่างทำเฉลยข้อสอบเก่าของหมวดวิชากฏหมายพาณิชย์ รหัส 41323 (พา 3) ค้ำประกัน จำนอง ตั๋วเงิน ให้เพื่อนๆทดลองทำครับ

Tab ติดตามวิชากฏหมาย: Attorney's journey: หนทางนักกฏหมาย

วันนี้จะเฉลย ข้อ 3 ของการสอบซ่อม ภาค 2/62 ครับ

โจทย์ ข้อ 3. (ตั๋วเงินและเช็ค)  

ทิดออกตั๋วแลกเงินส่งให้จันจ่ายเงินให้ดวง 200,000 บาท โดยทิดได้ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออก ดวงได้สลักหลังและส่งมอบตั๋วให้พร พรสลักหลังและส่งมอบตั๋วให้เมฆ พายเพื่อนของพร ลงลายมือชื่อด้านหน้าตั๋วแลกเงิน เมื่อตั๋วถึงกำหนด เมฆนำตั๋วแลกเงินไปให้จันรับรอง จันไม่ยอมรับรองตั๋วฉบับนั้น ใครต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินฉบับนี้บ้าง



👉 เทคนิคก่อนทำข้อสอบเรียบเรียงเหตุการณ์ตั้งแต่มีการออกตั๋วเงิน และตั๋วผ่านมือใครบ้าง แต่ละคนทำอะไรในตั๋วเงิน จนถึงตอนท้ายของตั๋วเงินว่าอยู่ในมือใครให้ได้ก่อน

จากนั้นเราก็จะเขียนแยกแยะการกระทำของแต่ละคนบนตั๋วเงิน 3 หัวข้อได้แก่

1 ชื่อของแต่ละบุคคลตามตั๋ว
2 การกระทำต่อตั๋ว
3 มาตราที่ตรงกับการกระทำต่อตั๋วของบุคคลตามข้อ 1


ตามโจทย์อาจแยกแยะรายละเอียดตามการเดินทางของตั๋วเงิน (Bill of exchange flow) ได้ดังนี้


1] ทิด = ผู้สั่งจ่าย/ผู้ออกตั๋ว เป็นลูกหนี้อันดับแรกหรือลูกหนี้ชั้นต้นที่เป็นต้นกำเนิดของการเกิดตั๋วแลกเงิน และทิดออกตั๋วเงินลงลายชื่อ ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออก ส่งผลให้ตั๋วดังกล่าวเป็น ตั๋วระบุชื่อ อ้างถึง ปพพ. มาตรา 900 


2] จัน = ผู้จ่าย มีหน้าที่จ่ายเงินตามตั๋ว ผู้จ่ายไม่มีฐานะเป็นลูกหนี้ เมื่อจันไม่ได้ลงลายมือหรือรับรองในตั๋วจึงไม่ต้องรับผิด อ้างถึง ปพพ. มาตรา 900 

3] ดวง = ผู้ทรงชั้นแรก เป็นบุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครอง โดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ตาม ปพพ. (มาตรา 904) และขณะเดียวกันดวงได้สลักหลังตั๋ว ซึ่งอันตั๋วแลกเงินทุกฉบับย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ(มาตรา 917) อีกทั้งดวงยังต้องรับผิดต่อผู้ทรงในฐานะผู้สลักหลังถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี(มาตรา 914)

4] พร = ผู้ทรงชั้นที่ 2 ต่อจากดวง มีความรับผิดเช่นเดียวกันกับดวง ในฐานเป็นผู้สลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงิน และตั๋วนั้นเขาไม่ยอมรับรอง

5] เมฆ = ผู้ทรงคนสุดท้ายที่มีสิทธิเรียกให้ผู้จ่ายรับรองหรือชำระเงินตามตั๋ว(มาตรา 904) และถ้าตั๋วเงินนั้นไม่ได้รับการรับรองก็สามารถฟ้องไล่เบี้ยต่อบุคคลผู้มีรายชื่อและต้องรับผิดตามตั๋วเงินได้(มาตรา 914)

6] พาย = ผู้รับอาวัล หมายถึง ตั๋วแลกเงินที่มีผู้ค้ำประกันรับประกันการใช้เงิน(มาตรา 938) และพายเพียงแต่ลงลายมือชื่อในด้านหน้าแห่งตั๋วเงินก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลแล้ว(มาตรา 939) ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน (มาตรา 940)

**เพื่อนๆอย่าหลงประเด็นที่โจทย์เขียนว่า พายเพื่อนของพร ลงลายมือชื่อด้านหน้าตั๋วแลกเงิน ว่าเป็นการรับอาวัลพรนะครับ เพราะการลงลายมือชื่อที่หน้าตั๋วโดยไม่ได้ระบุว่ารับอาวัลให้แก่ใครนั้นเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่ายเท่านั้นตาม ปพพ. มาตรา 939 วรรคท้าย ในคำรับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย

เห็นอะไรกันบ้างไหมครับ เห็นความชัดเจนขึ้นแล้วไง โดยใช้หลัก 5W1H มาช่วยคิดจากนั้นก็หาหลักกฏหมายในลักษณะ 21 ตั๋วเงิน ว่าการกระทำต่อตั๋วเงินของแต่ละคนนั้นเข้าล็อกกับมาตราไหนที่กฏหมายได้เขียนไว้นั่นเองครับ

ถึงเวลาที่จะทำคะแนนกันแล้วววว

ตอบ

กรณีตามปัญหา ป.พ.พ. วางหลักว่า

มาตรา 900  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
    ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น แกงไดหรือลายพิมพ์นิ้วมืออ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินไซร้ แม้ถึงว่าจะมีพยานลงชื่อรับรองก็ตาม ท่านว่าหาให้ผลเป็นลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไม่

มาตรา 904  อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครอง โดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

 มาตรา 914  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นำยื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา 917  อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ
    เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ดังนี้ก็ดี หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ
    อนึ่ง ตั๋วเงินจะสลักหลังให้แก่ผู้จ่ายก็ได้ ไม่ว่าผู้จ่ายจะได้รับรองตั๋วนั้นหรือไม่ หรือจะสลักหลังให้แก่ผู้สั่งจ่าย หรือให้แก่คู่สัญญาฝ่ายอื่นใดแห่งตั๋วเงินนั้นก็ได้ ส่วนบุคคลทั้งหลายเหล่านี้ก็ย่อมจะสลักหลังตั๋วเงินนั้นต่อไปอีกได้

มาตรา 938 ตั๋วแลกเงินจะมีผู้ค้ำประกันรับประกันการใช้เงินทั้งจำนวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ ซึ่งท่านเรียกว่า “อาวัล”
    อันอาวัลนั้นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้รับ หรือแม้คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับก็ได้

มาตรา 939 อันการรับอาวัลย่อมทำให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วเงินนั้นเอง หรือที่ใบประจำต่อ
ในการนี้พึงใช้ถ้อยคำสำนวนว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น และลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล
    อนึ่ง เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย
    ในคำรับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย

มาตรา 940 ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน
    แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้นจะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ นอกจากเพราะทำผิดแบบระเบียบ ท่านว่าข้อที่สัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์
    เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแลกเงินแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้ กับทั้งบุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น


ข้อเท็จจริงตามปัญหา การที่เมฆนำตั๋วแลกเงินไปให้จันรับรอง จันไม่ยอมรับรองตั๋วฉบับนั้น ผู้ที่ต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินฉบับนี้มี 4 คนด้วยกันได้แก่ ทิด ดวง พร และพาย 

ทิดเป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วถือเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่เป็นต้นและลงลายชื่อไว้ในตั๋วจึงต้องรับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายกรณีถ้าผู้รับอาวัลปฏิเสธไม่ชำระเงินตามตั๋วแก่ผู้ทรง 

จันเป็นเพียงผู้จ่ายเงินตามตั๋วและเมื่อจันไม่ได้ลงชื่อในตั๋วเงินจึงไม่ต้องรับผิด 

ดวงและพรเป็นผู้ทรงมีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินและเมื่อได้สลักหลังตั๋วและส่งมอบ ดังนั้นทั้งดวงและพรต้องรับผิดต่อผู้ทรงในฐานะผู้สลักหลังเมื่อปรากฏว่าตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่ยอมรับรอง

ส่วนพายผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายคือทิด เพราะได้ลงลายมือชื่อในด้านหน้าแห่งตั๋วเงินและไม่ได้ระบุลงไปในตั๋วเงินว่ารับอาวัลบุคคลใดจึงเป็นการรับอาวัลผู้สั่งจ่าย ต้องรับผิดต่อผู้ทรงในฐานเป็นผู้ค้ำประกันผู้สั่งจ่าย

สรุป ผู้ที่ต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินฉบับนี้ได้แก่ ทิด ดวง พร และพาย ตามหลักกฏหมายที่กล่าวมาข้างต้น

**
ช่วงเทคนิคแถมท้าย:😇 ข้อสอบเรื่องตั๋วเงินเป็นข้อสอบที่ค่อนข้างยาก แต่เพื่อนๆต้องทำตามขั้นตอนไปทีละ Step ตามนี้ครับ

1) ต้องรู้ความหมายคำศัพท์ของตั๋วเงิน เช่น ผู้ทรง ผู้สลักหลัง ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ตั๋วผู้ถือ ตั๋วระบุชื่อ ฯ
2) ต้องรู้ผลของการกระทำของบุคคลต่อตั๋ว
3) ต้องรู้ถึงการเปลี่ยนสถานะไปในรูปแบบต่างๆเมื่อตั๋วเงินได้ถูกกระทำของบุคคลตามข้อ 2 ตัวอย่าง เช่น ตั๋วผู้ถือเมื่อผู้สั่งจ่ายขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออกตั๋วฉบับนั้นจะกลายเป็นตั๋วระบุชื่อผู้ถือ
4) ต้องทราบว่าตั๋วแลกเงินตามโจทย์เป็นตั๋วเงินประเภทใด คือ ตั๋วผู้ถือออกหรือตั๋วระบุชื่อผู้ถือ
5) ไล่สายการไหลของตั๋วเงินและระบุมาตราตามลิ้งค์นี้:👉 การไหลตั๋วเงินและมาตราที่เกี่ยวข้อง

ขอให้เพื่อนๆโชคดี เดินทางตามหาดาวมาประดับชีวิตได้ตามที่ expect ไว้นะครับ และหวังเป็นอย่างยิ่งกว่า พี่เล้งก็ will be there with you all as well. Cheer up! / สู้สู้ ก็ยังไง!

ขอบคุณที่ติดตามบล็อกและเฟสบุคของ พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

สวัสดีครับ

ความคิดเห็น