แนวข้อสอบกฏหมายพาณิชย์ 3 เมษาค้ำประกันความเสียหายให้กุมภาลูกจ้างมกรา | เล้ง นิติศาสตร์
สวัสดีครับ พบกันอีกแล้วครับพร้อมกับแนวการตอบวิชากฏหมายดีๆมีประโยชน์
Tab ติดตามวิชากฏหมาย: ATtorney's journey: หนทางนักกฏหมาย
Tab ดู: แหล่งวิทยาการ นิติศาสตร์ มสธ
วันนี้ ผม เล้ง นิติศาสตร์ (มสธ) นำแนวโจทย์ข้อสอบวิชากฏหมายแพ่งและพาณิชย์ 3 (พา 3) : ประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ ตั๋วเงินมาเขียนตอบเพื่อให้เพื่อนๆได้เห็นวิธีการตอบวิชาดังกล่าว
โจทย์วันนี้เป็นเรื่องค้ำประกันครับ ถ้าเพื่อนอ่านโจทย์ด้านล่างดูก็จะพบว่ามีมาตราเกี่ยวข้องที่ต้องนำตัวบทมาอ้างอิงในการตอบ 2 มาตราด้วยกัน
มาตราทั้ง 2 ที่กล่าวถึงนั้น ผมแนะนำให้เพื่อนๆทำความเข้าใจและท่องจำให้ได้ครับ เพราะต้องได้ใช้อย่างแน่นอนในเรื่องการค้ำประกัน
โจทย์
กุมภาเข้าทำงานเป็นลูกจ้าง มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าของมกรา โดยมีเมษาทำสัญญาค้ำประกันความเสียหาย หากกุมภากระทำให้เกิดขึ้นในขณะเป็นลูกจ้าง กุมภาเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแล้ว ไม่นำส่งให้มกราเป็นเวลาหลายเดือน เป็นเงินทั้งสิ้น 120,000 บาท จนกระทั้งมกราทราบเรื่อง กุมภาจึงยอมรับผิดและทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้มกรา โดยสัญญารับรองว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดภายใน 30 วัน สองเดือนต่อมา มกราทวงถามกุมภาให้ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ กุมภาไม่ชำระหนี้ มกราจึงฟ้องทั้งกุมภาและเมษาให้ชำระหนี้รายนี้ เมษายกข้อต่อสู้ว่ามกรายอมผ่อนเวลาให้กุมภาโดยเมษาไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย ตนจึงพ้นความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
ดังนี้ข้อต่อสู้ของเมษาฟังขึ้นหรือไม่ เพียงใด
แนวการตอบ
กรณีตามปัญหา ปพพ. วางหลักไว้ว่า
(มาตรา 680) อันว่าค้ำประกันนั้นคือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
(มาตรา 700) ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ผู้ค้ำประกันจะได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้น
ข้อตกลงที่ผู้ประกันทำไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหนี้ผ่อนเวลาอันมีผลเป็นการยินยอมให้แก่เจ้าหนี้ผ่อนเวลา ข้อตกลงนั้นใช้บังคับมิได้
ความในวรรคสอง มิได้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ
จากข้อเท็จจริงตามปัญหา การที่ผู้ค้ำประกันจะยกข้อต่อสู้เรื่องการที่เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ โดยผู้ค้ำประกันไม่ตกลงยินยอมด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดตามมาตรา 700 นั้น หน้าที่ผูกพันกันอยู่ต้องเป็นหนี้ที่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้แน่นอนและมีการตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ผ่อนเวลากันแน่นอน โดยมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้น เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องไม่ได้
กรณีตามปัญหา เป็นการค้ำประกันความเสียหายในการทำงานของลูกจ้าง มิได้เป็นการค้ำประกันหนี้ื่อันจะต้องชำระ ณ เวลาอันมีกำหนดแน่นอน เมษาจึงไม่อาจยกข้อต่อสู้เรื่องการผ่อนเวลาชำระหนี้ตามมาตรา 700 เพื่อให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีตามปัญหา การที่กุมภาทำหนังสือารับสภาพหนี้ให้แก่มกรา โดยสัญญาว่าจะชำระหนี้ให้ภายใน 30 วัน โดยมกรามิได้ตกลงด้วย ก็ไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาด้วยเช่นกัน เมษาจึงไม่หลุดพ้นความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันได้
ดังนั้น ข้อต่อสู้ของเมษาจึงฟังไม่ขึ้น
ก็จบลงไปอีก 1 ข้อครับ ก่อนจากกันในช่วงท้ายนี้ ก็อยากจะฝากเพื่อนๆว่า การเรียนวิชากฏหมายนั้น การท่องจำตัวบทให้ได้และเข้าใจความหมายและยกตัวอย่างประกอบได้เป็นสิ่งจำเป็นครับ
Thanks for reading.
ขอให้เพื่อนโชคดีได้ H กันทุกๆคนนะครับ
ช่วยกด Like กด Share จะได้ช่วยกันเผยแพร่ให้พวกๆเรากันเองครับ
คลิกดูเรื่องอื่นเพิ่ม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น