ข้อสอบพา 3 ดำทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี 4 แสน แดงผู้ค้ำบอกเลิกจำนวน 1 แสน... | เล้ง นิติศาสตร์ มสธ
สวัสดีครับ พบกับผม เล้ง นิติศาสตร์ มสธ ครับ
Tab ติดตามวิชากฏหมาย: ATtorney's journey: หนทางนักกฏหมาย
Tab ดู: แหล่งวิทยาการ นิติศาสตร์ มสธ
แนวข้อสอบวิชากฏหมายแพ่งและพาณิชย์ 3 (พา 3) เป็นวิชาว่าด้วยประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ ตั๋วเงิน
โจทย์ต่อไปนี้เป็นโจทย์เรื่องค้ำประกัน มีมาตราประกอบ 3 มาตรา
1. มาตรา 683 เป็นบทบัญญัติลักษณะ 11 เรื่องค้ำประกัน หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
2. มาตรา 699 เป็นบทบัญญัติลักษณะ 11 เรื่องค้ำประกัน หมวด 4 ความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกัน
3. มาตรา 700 เป็นบทบัญญัติลักษณะ 11 เรื่องค้ำประกัน หมวด 4 ความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกัน
โจทย์
ดำมีเงินฝากธนาคารออมแล้วรวย จำกัด และทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารไว้ในยอดเงิน 400,000 บาท มีข้อตกลงตามประเพณีธนาคารว่า เมื่อดำประสงค์จะใช้เงินจำนวนเกิน 400,000 บาทเมื่อใด ก็จะเบิกเงินเกินบัญชีไปเป็นครั้งคราว จนกว่าจะครบ 400,000 บาทภายในระยะเวลา 1 ปี โดยดำยอมเสียดอกเบี้ยตามระเบียบของธนาคาร แดงเป็นผู้ค้ำประกันในการเบิกเงินเกินบัญชีของดำดังกล่าว
3 เดือนต่อมา ดำเบิกเงินเกินบัญชีไปเป็นครั้งคราวเป็นเงินทั้งสิ้น 300,000 บาท แดงจึงมีหนังสือแจ้งไปยังธนาคารขอบอกยกเลิกการค้ำประกันสำหรับเงินจำนวน 100,000 บาทที่ดำไม่ได้เบิก ธนาคารแจ้งกลับมายังแดงว่า แดงไม่มีสิทธิบอกเลิกเพราะยังไม่ครบกำหนด 1 ปี แดงยังต้องผูกพันอยู่ตามสัญญา เช่นนี้ ข้ออ้างของธนาคารฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
แนวการตอบ
กรณีตามปัญหา ปพพ. วางหลักไว้ว่า
(มาตรา 683) อันค้ำประกันอย่างไม่จำกัดนั้นย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย
(มาตรา 699) การค้ำประกันเพื่อกิจกรรมต่อเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้
ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้
(มาตรา 700) ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ผู้ค้ำประกันจะได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้น
ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันทำไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหนี้ผ่อนเวลาอันมีผลเป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลา ข้อตกลงนั้นใช้บังคับมิได้
ความในวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ
จากข้อเท็จจริงตามปัญหา ตามปกติแล้ว การทำสัญญากู้เงินเบิกเกินบัญชี เป็นกิจการที่ต่อเนื่องกันไปหลายคราวไม่จำกัดเวลา แต่ตามปัญหามีการกำหนดเวลาตามสัญญาไว้ 1 ปี ผู้ค้ำประกันซึ่งเข้าค้ำประกันโดยไม่จำกัดความรับผิด จึงต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันจนกว่าจะครบกำหนดเวลาตามสัญญา ไม่ใช่กิจการที่ต่อเนื่องกันไปหลาวคราว โดยไม่จำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ แดงผู้ค้ำประกันไม่อาจบอกเลิกการค้ำประกันในการกู้เงินเบิกเกินบัญชี สำหรับจำนวนเงินที่ยังไม่ได้เบิก กรณีนี้ไม่ต้องด้วยมาตรา 699 ข้ออ้างของธนาคารฟังขึ้น
สรุป ข้ออ้างธนาคารฟังขึ้นดังที่กล่าวมาแต่ต้น
😎😎😎
อยากทำข้อสอบได้ง่ายนิดเดียว คือ ท่องบท + ฝึกทำข้อสอบเก่าวันละอย่างน้อย 1 ข้อทุกวัน
Thanks for reading.
ขอให้เพื่อนโชคดีได้ H กันทุกๆคนนะครับ
ช่วยกด Like กด Share จะได้ช่วยกันเผยแพร่ให้พวกๆเรากันเองครับ
คลิกดูเรื่องอื่นเพิ่ม
ผมสนใจกฏหมายเมื่อถูกหลอก จึงเรียนรู้เพื่อหาข้อต่อสู้ แต่เมื่อเรียนไปก็พบว่ามันเป็นอาชีพที่ช่วยผู้เดือดร้อนได้ด้วย...จึงได้เขียนบล็อกนี้เพื่อแชร์ให้กับทุกๆคน...
ตอบลบ