ข้อสอบกฏหมาย"มหาชน" มสธ จงอธิบายความหมายของกฏหมายมหาชน | เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้ผมจะนำแนวข้อสอบวิชากฏหมายมหาชนยกมาทำจำนวน 2 ข้อเพื่อเป็นแนวให้เพื่อนๆนำไปใช้ในการทำข้อสอบและเป็นความรู้ด้านกฏหมายมหาชนอันเป็นวิชากฏหมายที่สำคัญอีกสาขาวิชาหนึ่ง




โจทย์ข้อที่ 1

อธิบายความหมายของกฏหมายมหาชน หลักเกณฑ์ในการแบ่งแยกกฏหมายมหาชนกับเอกชนและบ่อเกิดกฏหมายมหาชน

แนวการตอบ

กฏหมายมหาชน หมายถึงกฏหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎรในฐานะที่รัฐเป็นฝ่ายปกครองราษฎร กล่าวคือในฐานะที่รัฐมีฐานะเหนือราษฎร

คำว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร หมายถึง ความสัมพันธ์ในทางกฏหมายระหว่างคู่กรณีสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ อีกฝ่ายหนึ่งคือราษฎรหรือเอกชนเป็นรายๆไปตามความสัมพันธ์เช่นว่านี้อาจเห็นได้ชัดเจนในกรณีของกฏหมายปกครอง รัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งอาจออกกฏหมายหรือคำสั่งที่กระทบถึงผลประโยชน์ของราษฎรได้ เช่น ในกรณีเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือเก็บภาษีเงินได้เอาจากราษฎร เป็นต้น

คำว่ารัฐมีฐานะเหนือราษฎรกล่าวคือในฐานะที่รัฐมีฐานะเหนือราษฏร หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีซึ่งฝ่ายหนึ่งมีฐานะสูงกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง จึงบังคับเอาได้ หรือใช้อำนาจได้มากว่าอีกฝ่ายหนึ่ง

อนึ่งกฏหมายมหาชนเป็นกฏหมายที่รัฐใช้บังคับโดยมุ่งเพื่อประโยชน์ของสาธารณะโดยรวม

หลักเกณฑ์การในการแบ่งแยกกฏหมายมหาชนกับเอกชน 

1. พิจารณาว่ากฏหมายนั้นกล่าวถึงกิจการของใคร ถ้าเป็นกิจการของรัฐ(State affairs) คือเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม เช่น เรื่องการปกครองบ้านเมืองก็เป็นกฏหมายมหาชน ถ้าเป็นกิจการส่วนตัวของเอกชน ก็เป็นกฏหมายเอกชน

2. พิจารณาว่ากฏหมายนั้นให้ใครเป็นประธานแห่งสิทธิ หรือเป็นผู้ทรงอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าองค์การของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ทรงอำนาจ มีอำนาจบังคับอีกฝ่ายหนึ่งได้ก็เป็นกฏหมายมหาชน แต่ในกรณีกฏหมายเอกชน เช่น กฏหมายแพ่งและพาณิชย์จะเห็นได้ว่าคู่กรณีทั้งสอฝ่ายเป็นผู้ทรงสิทธิเท่ากัน คือ อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค

3. พิจารณาว่ากฏหมายนั้นเคร่งครัดหรือไม่หรือเปิดโอกาสให้มีการตกลงหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเคร่งครัดหรือบังคับตายตัวทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่(Jus cogens) ก็เป็นกฏหมายมหาชน ถ้าผ่อนปรนยอมให้ตกลงกันได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในกฏหมายได้เป็นส่วนใหญ่(Jus dispositivum) ก็เป็นกฏหมายเอกชน

บ่อเกิดกฏหมายมหาชน 

คำว่า "บ่อเกิดกฏหมายมหาชน" (Source of law) หมายถึงแหล่งอันเป็นที่เกิดของกฏหมายซึ่งใช้ในการณีที่จะอธิบายว่ากฏเกณฑ์ใดบ้างที่ยอมรับนับถือได้ว่าเป็นกฏหมาย บ่อเกิดกฏหมายมหาชน จึงหมายถึงแหล่งอันเป็นที่เกิดของกฏหมายมหาชนหรือที่เราจะค้นหากฏหมายมหาชนได้นั่นเอง

กฏหมายมหาชนมีที่มาจาก

1. กฏหมายลายลักษ์อักษร
2. กฏหมายที่มิได้บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร

กฏหมายลายลักษ์อักษร หรือกฏหมายที่ได้บัญญัติขึ้น(Jus scriptum) เช่น รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตัวบทกฏหมายปกครอง กฏหมายการคลัง กฏหมายอาญา หรือกฏหมายมหาชนประเภทอื่นๆซึ่งบัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ดังเห็นได้จากกฏหมายมหาชนในประเทศภาคพื้นยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ไทย เป็นต้น

กฏหมายที่มิได้บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร (Jus non scriptum) เช่น กฏหมายจารีตประเพณี คำพิพากษาศาลที่ถือว่าเป็นบรรทัดฐาน และหลักกฏหมายทั่วไป กฏหมายมหาชนที่มีบ่อเกิดจากแหล่งซึ่งไม่เป็นลายลักษณ์อักษรนี้มีอยู่ในประเทศคอมมอนลอว์ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริการ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แต่มิได้ถือว่าในประเทศคอมมอนลอว์ จะมีบ่อเกิดนี้เสมอไป เพราะสหรัฐอเมริกาก็มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษ์อักษร นอกจากนี้ประเทศในภาคพื้นยุโรป เช่น ฝรั่งเศส มีบ่อเกิดจากแหล่งนี้มิใช่น้อย เช่น อาศัยจารีตประเพณี คำวินิจฉัยของสภาแห่งรัฐ (Conseil d'Eat) และหลักกฏหมายทั่วไป

นอกจากนี้ยังมีบ่อเกิดจากทฤษฎีทางการเมือง การปกครอง และการคลังอีกด้วย

โจทย์ข้อที่ 2

จงอธิบายการควบคุมอำนาจรัฐโดยศาลปกครอง

แนวการตอบ

ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาพิพาทระหว่างหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่าง 2 หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฏหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินการกิจการทางปกครองของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ทั้งนี้ตามที่กฏหมายบัญญัติรวมทั้งมีอำนจพิจารณพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฏหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

อำนาจหน้าที่ของศาลปกครองตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง คดีที่จะเป็นคดีปกครองเป็นคดีที่พิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน หรือระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฏหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นการพิจารณาว่าคดีนั้นเป็นคดีปกครองหรือไม่โดยหลักจึงต้องพิจารณาจาก

ประการแรก คู่กรณีในคดีทีี่พิพาทนั้นอย่างน้อยต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เรียกว่า "หน่วยงานทางปกครอง" หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น โดยหลักหากเป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนจึงไม่เป็นคดีทางปกครอง

ประการที่สอง ลักษณะคดี คดีพิพาทกันนั้นต้องเป็นกรณีที่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครอง หรือการดำเนินกิจการทางปกครองหรืออีกนัยหนึ่งคือคดีพิพาทจากการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่

ประการที่สาม เป็นคดีประเภทใดประเภทหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง

สรุปคือการควบคุมอำนาจรัฐโดยศาลปกครองคือการที่ศาลปกครองมีอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองที่สามารถใช้อำนาจนั้นตรวจสอบหน่วยงานองค์กรต่างๆของรัฐ ฯ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้อยู่ในขอบเขตที่สามารถกระทำได้

ขอให้เพื่อนโชคดีได้ H กันทุกๆคนนะครับ




ช่วยกด Like กด Share จะได้ช่วยกันเผยแพร่ให้พวกๆเรากันเองครับ

คลิกดูเรื่องอื่นเพิ่ม

ความคิดเห็น