แพ่ง 2 มสธ ตัวอย่างโจทย์และแนวการตอบกฏหมายแพ่ง 2 อัตนัยจำนวน 3 ข้อ | เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

สวัสดีครับเพื่อนๆที่กำลังเรียนวิชากฏหมายหรือสนใจวิชากฏหมายเพื่อนำไปใช้กับชีวิตประจำวัน

วันนี้ผมจะนำแนวข้อสอบวิชากฏหมายแพ่ง 2 มาตอบเพื่อเป็นแนวให้เพื่อนๆนำไปใช้ในการทำข้อสอบครับ

Tab ติดตามวิชากฏหมาย: Attorney's journey: หนทางนักกฏหมาย


ผมจะนำมาเขียน 3 ข้อด้วยกัน เริ่มจากข้อแรกกันเลยครับ

โจทย์ข้อที่ 1

ชัยทำหนังสือสัญญากู้เงินจากรัช 100,000 บาท โดยมีระยะเวลา 1 ปี ก่อนวันครบกำหนดชำระหนี้ ชัยได้ไปถอนเงินจากธนาคารมา 100,000 บาท เพื่อจะมาชำระหนี้รัชในวันรุ่งขึ้น โดยเก็บไว้ในห้องนอน แต่นายเอกซึ่งเป็นน้องชายของนายชัยได้แอบขโมยเงินนั้นไป 

นายชัยรู้เรื่องในวันรุ่งขึ้น ต่อมาอีก 6 เดือน นายรัชจึงมาทวงพร้อมทั้งดอกเบี้ย นายชัยปฎิเสธชำระโดยอ้างว่าหนี้พ้นวิสัยที่ตนไม่ต้องรับผิดชอบ ท่านเห็นด้วยกับข้ออ้างของนายชัยหรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวการตอบ

กรณีตามปัญหา ปพพ. วางหลักไว้ว่า

(ม.204 ว.2) ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดไซร์ ท่านว่าลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย

(ม.217) ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายบรรดาที่เกิดแต่ความประมาทเลินเล่อในระหว่างที่ตนผิดนัด ทั้งจะต้องรับผิดชอบในการที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นในระหว่างที่ผิดนัดนั้นด้วย เว้นแต่ความเสียหายนั้น ถึงแม้ว่าตนจะได้ชำระหนี้ทันเวลากำหนดก็คงจะต้องเกิดขึ้นอยู่นั่นเอง

(ม.219) ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร์ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น

(ม.224) หนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอื่นอันชอบด้วยกฏหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด

การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้นท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้

จากข้อเท็จจริงตามปัญหา การที่นายชัยทำหนังสือสัญญากู้เงินจากรัช 100,000 บาท โดยมีระยะเวลา 1 ปีนั้นเป็นหนี้มีกำหนดเวลาชำระตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อนายชัยลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น นายชัยตกเป็นผู้ผิดนัด

การที่นายชัยเก็บเงินไว้ในห้องและถูกนายเอกขโมยไปนั้นถือได้ว่าเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของนายชัยเอง นายชัยจึงจะต้องรับผิดต่อการชำระหนี้นั้น

ครั้นเมื่อนายรัชมาทวงถามให้ชำระหนี้พร้อมทั้งดอกเบี้ย นายชัยปฎิเสธโดยอ้างว่าเป็นหนี้พ้นวิสัยที่ตนไม่ต้องรับผิดชอบหาได้ไม่ อนึ่งหนี้เงินนั้นท่านว่าไม่เป็นหนี้ที่พ้นวิสัยเพราะว่าสามารถหามาทดแทนกันได้

ดังนั้นนายชัยถือได้ว่าเป็นผู้ผิดนัดนับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระหนี้จึงต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้พร้อมต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่นายชัยผิดนัดชำระหนี้

โจทย์ข้อที่ 2

ขาว แดง ดำ เป็นลูกหนี้ร่วมของเขียว 30,000 บาท เขียวฟ้องศาลให้ดำชดใช้หนี้ทั้งหมด ศาลมีคำสั่งให้ดำชดใช้พร้อมดอกเบี้ย ดำก็ชำระตามคำสั่งศาล เขียวจะฟ้องแดง ขาว เพราะเป็นหนี้อยู่ ได้หรือไม่ และ แดง ขาว ต้องรับผิดต่อเขียวร่วมกับดำหรือไม่
😊 วิเคราะห์โจทย์

โจทย์ถาม 2 ประเด็นคือ

1) เขียว เจ้าหนี้จะยังฟ้อง แดงและขาว ได้หรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นเขียวได้ฟ้องดำซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกันกับแดงและขาวและได้รับการชำระหนี้จากดำครบแล้ว

2) แดงและขาวต้องรับผิดต่อเขียวร่วมกับดำในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมกันหรือไม่

แนวการตอบ

กรณีตามปัญหา ปพพ. วางหลักไว้ว่า

(ม.291) ถ้าบุคคลจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนอง ซึ่งแต่ละคนจะต้องชำระหนี้สิ้งเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

(ม.292) การที่ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งชำระหนี้นั้นย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วยวิธีเดียวกันนี้ ท่านให้ใช้บังคับแก่การใดๆอันพึงกระทำแทนการชำระหนี้ ว่างทรัพย์สินแทนชำระหนี้ และหักกลบลบหนี้ด้วย

(ม.296) ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้นท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่าอื่น ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระหนี้นั้นเป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไร ลูกหนี้คนอื่นๆ ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้ แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป

จากข้อเท็จจริงตามปัญหา การที่ขาว แดง ดำ เป็นลูกหนี้ร่วมของเขียว 30,000 บาท เขียวฟ้องศาลให้ดำชดใช้หนี้ทั้งหมด ศาลมีคำสั่งให้ดำชดใช้พร้อมดอกเบี้ย ดำก็ชำระตามคำสั่งศาล ถือได้ว่าเขียวได้ใช้สิทธิของเจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดหนึ่งสิ้นเชิงแล้ว

กรณีที่เขียวเจ้าหนี้จะยังฟ้อง แดงและขาวซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกันกับดำให้ชำระหนี้นั้นหาได้ไม่ เหตุเพราะเขียวได้รับการชำระหนี้ตามมูลหนี้ครบถ้วนแล้วจากดำคือ 30,000 บาท ซึ่งการที่ดำเป็นลูกหนี้ร่วมได้ชำระหนี้นั้นย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆคือขาวและแดงด้วยนั่นเอง เมื่อหนี้ได้ชำระครบถ้วนเสร็จสิ้นแล้วบรรดาลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้นั้น

ส่วนกรณีที่แดงและขาวเป็นลูกหนี้ร่วมกันกับดำนั้น ในหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้นท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้นเป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดอยู่จำนวนเท่าไร ลูกหนี้คนอื่นๆซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้ 

ดังนีี้จะเห็นได้ว่าการที่ดำได้ชำระหนี้จำนวน 30,000 ให้แก่เขียวไปแล้วนั้น ดำสามารถที่จะเรียกเอาจากแดงและขาวในจำนวนมูลหนี้ที่ดำได้ชำระไป ซึ่งหนี้เป็นหนีี้ที่ิมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ขาว แดง และดำจึงอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมที่ต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน ในที่นี้คือคนละ 10,000 บาท ดังนั้นแดงและขาวจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อเขียวชำระหนี้ให้ดำคนละ 10,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยตามจำนวนที่ดำได้ชำระให้เขียวไปแล้วนั้น

โจทย์ข้อที่ 3

 สมชายเป็นลูกจ้างของสมศรี เป็นพนักงานเติมน้ำมัน ต่อมานายสมศักดิ์นำรถเก่ามาเติมน้ำมัน พอเติมน้ำมันเสร็จ รถสตาร์ทไม่ติด สมชายซึ่งมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์อยู่บ้างจึงอาสาซ่อมให้ แต่ปรากฎว่ารถเสียหายมากกว่าเดิมคิดเป็นมูลค่า 20,000 บาท สมศักดิ์จะฟ้องสมศรีในฐานะนายจ้างได้หรือไม่

แนวการตอบ

กรณีตามปัญหา ปพพ. วางหลักไว้ว่า

(ม.420) ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฏหมาย ทำให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

(ม.425) นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

จากข้อเท็จจริงตามปัญหา สมชายเป็นลูกจ้างของสมศรีเป็นพนักงานเติมน้ำมัน เมื่อรถของสมศักดิ์ที่นำมาเติมน้ำมันสตาร์ทไม่ติด สมชายจึงรับอาสาซ่อมให้ แต่ปรากฎว่ารถเสียหายมากกว่าเดิมคิดเป็นมูลค่า 20,000 บาทนั้น เห็นได้ว่าสมชายได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อทำให้รถของสมศักดิ์เกิดความเสียหายมากกว่าเดิม เพราะสมชายเป็นเพียงพนักงานเติมน้ำมันเมื่อรับอาสาซ่อมรถให้จนเกิดความเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม สมชายจึงต้องรับผิดฐานทำละเมิดต่อทรัพย์สินคือรถยนต์ของสมศักดิ์

ส่วนกรณีที่สมชายเป็นลูกจ้างของสมศรี และสมชายได้อาสาทำการซ่อมเครื่องยนต์ให้แก่สมชายแต่ปรากฎว่ารถเสียหายมากกว่าเดิมคิดเป็นมูลค่า 20,000 บาทนั้นซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยละเมิดของสมชายลูกจ้างของสมศรี สมศักดิ์จะฟ้องสมศรีในฐานะนายจ้างได้นั้นย่อมสามารถทำได้ เพราะเห็นได้ว่าสมชายเป็นลูกจ้างของสมศรีโดยเป็นพนักงานเติมน้ำมัน และการที่สมชายรับอาสาซ่อมรถให้สมศักดิ์นั้นสมชายก็อยู่ในระหว่างเวลาทำงานให้กับสมศรีและการซ่อมรถก็เป็นงานในทางการที่จ้าง

ดั้งนั้นสมศักดิ์จะฟ้องสมศรีในฐานะนายจ้างย่อมทำได้ดังที่วินิจฉัยมาแต่ต้น

...

💚ดูหน่วยเน้นของภาคการศึกษานั้นๆ
💚ท่องมาตราเน้น
💚หัดเขียนตอบอัตนัยจากข้อสอบเก่า (หาได้จากที่นี่)
💚ทำแบบประเมินตนเอง ก่อนเรียน และ หลังเรียน ครบทุกบท และทำทบทวนบ่อยๆ (หาได้จากที่นี่)

Thanks for reading.

ขอให้เพื่อนโชคดีได้ H กันทุกๆคนนะครับ




ช่วยกด Like กด Share จะได้ช่วยกันเผยแพร่ให้พวกๆเรากันเองครับ

คลิกดูเรื่องอื่นเพิ่ม

ความคิดเห็น