แนวข้อสอบพา 3 มสธ กฏหมายพาณิชย์ 3 มกราขอกู้เงินจากกุมภา 2 แสนบาท | เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

เจอแล้ว แนว พา 3 มสธ คำถามอัตนัย + หลักการตอบ(เสมือนจริง)


สวัสดีครับเพื่อนๆ พบกันเช่นเคยครับกับแนวข้อสอบกฏหมายที่จะช่วยปูทางให้เพื่อนๆนักศึกษาวิชากฏหมาย โดยเฉพาะนักศึกษามสธ. ได้ฝึกอ่านฝึกทำก่อนเข้าห้องสอบจริง


Tab ติดตามวิชากฏหมาย: ATtorney's journey: หนทางนักกฏหมาย
Tab ดู: แหล่งวิทยาการ นิติศาสตร์ มสธ

สำหรับคนทั่วๆไปก็สามารถอ่านและนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันครับ 

วันนี้วิชากฏหมายพาณิชย์ 3 [พา 3 มสธ]  ซึ่งเป็นวิชาที่ข้อสอบจะออกบทกฏหมายมากกว่ามาตราเดียวครับ อย่างเช่นวันนี้มีกี่มาตราในโจทย์หนึ่งข้อ เพื่อนๆลองนับดูนะครับ

โจทย์

มกราขอกู้เงินจากกุมภาจำนวน 200,000 บาท โดยมีสิงหาเพื่อนสนิทมาช่วยเจรจา ในที่สุดได้ตกลงทำเป็นสัญญาขายรถยนต์ระหว่างมกรากับกุมภาอำพรางไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้อื่นมายึด และสิงหาได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาซื้อรถยนต์ด้วยในฐานะผู้ค้ำประกัน

สามเดือนต่อมาเมื่อกุมภาทวงถามให้มกราชำระหนี้เงินกู้ มกราก็บ่ายเบี่ยงตลอดมาไม่ยอมชำระหนี้ และในที่สุดได้หนีหายไป เมื่อเวลาผ่านไปหกเดือน กุมภาจึงนำสัญญาซื้อขายรถยนต์ที่ทำไว้มาฟ้องสิงหาให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน

ดังนี้ สิิงหาจะมีข้อต่อสู้ตามสัญญาค้ำประกันเพื่อให้พ้นความผิดได้อย่างไรบ้างหรือไม่ เพียงใด

แนวการตอบ

กรณีตามปัญหา ปพพ. วางหลักไว้ว่า

(มาตรา 155) การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฏหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ

(มาตรา 680) อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้นถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

(มาตรา 681) อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้ แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ำประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จำนวนสูงสุดที่ค้ำประกัน และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน เว้นแต่เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวตามมาตรา 699 จะไม่ระบุระยะเวลาดังกล่าวก็ได้

สัญญาค้ำประกันต้องระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ค้ำประกันย่อมรับผิดเฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น

หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งผูกพันลูกหนี้เพราะทำด้วยความสำคัญผิดหรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้นก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่เข้าทำสัญญาผูกพันตน

จากข้อเท็จจริงตามปัญหา 

หนี้ตามสัญญาเป็นหนี้อุปกรณ์ ซึ่งต้องอาศัยหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อันเป็นหนี้ประธาน หนี้ประธานจึงต้องเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ มีผลบังคับได้ตามกฏหมาย สัญญาค้ำประกันอันเป็นหนี้อุปกรณ์จึงจะมีผลบังคับตามไปด้วย กรณีตามปัญหาสัญญาเงินกู้และสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างมกราและกุมภาเป็นนิติกรรมอำพราง เพราะเป็นการทำสัญญาซื้อขายรถยนต์อำพรางสัญญากู้เงินไว้ ในระหว่างมกราและกุมภาจึงต้องบังคับตามสัญญากู้เงิน สัญญาซื้อขายรถยนต์ใช้บังคับกับมกราและกุมภาไม่ได้ เพราะเกิดจากเจตนาลวงตกเป็นโมฆะ

ดังนั้นเมื่อสัญญาซื้อขายรถยนต์ซึ่งเป็นหนี้ประธานนั้นไม่สมบูรณ์ เพราะตกเป็นโมฆะแล้ว แม้จะมีการค้ำประกันโดยทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ก็ตาม ก็ไม่อาจฟ้องบังคับเอากับสิงหาในฐานะผู้ค้ำประกันได้

สรุป 

สิงหาสามารถมีข้อต่อสู้ได้เพื่อให้พ้นผิดได้โดยอ้างถึงสัญญาซื้อขายรถยนต์ตกเป็นโมฆะดังนั้นจะใช้บังคับสิงหา หาได้ไม่ดังที่กล่าวมาแต่ต้น

Thanks for reading.

ขอให้เพื่อนโชคดีได้ H กันทุกๆคนนะครับ




ช่วยกด Like กด Share จะได้ช่วยกันเผยแพร่ให้พวกๆเรากันเองครับ

คลิกดูเรื่องอื่นเพิ่ม

ความคิดเห็น