การเตรียมตัวก่อนสอบและเทคนิคการทำข้อสอบ "วิชากฏหมาย" | เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

สวัสดีครับเพื่อนๆนักศึกษาสาขาวิชานิติศาสตร์ ผมในฐานะที่กำลังศึกษาสาขาแขนงดังกล่าวข้างต้นอยู่ที่ มสธ. จึงนำเอาหลักต่างๆในการทำข้อสอบมาบอกกล่าวให้เพื่อนๆได้นำไปใช้เป็นแนวการทำข้อสอบกันครับ


เทคนิคทำข้อสอบวิชากฏหมาย มสธ

การเตรียมตัวก่อนสอบ

-ต้องจำหลักกฎหมายให้ได้และเข้าใจความหมาย

-ต้องเข้าใจข้อเท็จจริงตามคำถามและปรับให้เข้ากับหลักกฎหมาย

-ฝึกทักษะในการเขียนให้เกิดความชำนาญ

-อ่านหนังสือให้เร็วและให้จบวิชาได้มากที่สุด หรือหลายๆครั้ง

-จัดทำสรุปย่อและทบทวนก่อนสอบอย่างน้อย1อาทิตย์

-ทำความเข้าใจโครงสร้างการตอบข้อสอบของ มสธ.

-วางแผนการทำปรนัย หรืออัตนัยตามที่มีความพร้อม หรือที่เตรียมความรู้มา

-ก่อนถึงวันสอบทำสมาธิให้ดี อย่ากังวลปัญหาต่างๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายพอเหมาะ หาข้อมูลและวางแผนการเข้าสอบให้พร้อม

-ไม่รับรู้ปัญหาต่างๆเข้ามากระทบสมองก่อนสอบ

-ไม่ควรคุยกับเพื่อนๆที่พบเห็นก่อนเข้าสอบ อาจทำให้ลังเล หลงลืมเรื่องที่เตรียมมา

-ไปสนามสอบก่อนเวลาและนำสรุปย่อไปอ่านที่สนามสอบ เพื่อมิให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน

-เมื่อสอบเสร็จสิ้นแต่ละเทอม ให้อ่านหนังสือต่อเนื่องกันไปในวิชาอื่นๆ

ข้อสอบแบบตุ๊กตาหรือแบบอุทาหรณ์

ส่วนที่1


หลักกฎหมาย

-ประมวลกฎหมาย..................มาตรา................(กรณีท่องจำตัวบทได้แม่นยำทุกตัวอักษร)

-ประมวลกฎหมาย...............วางหลักไว้ว่า...........(กรณีจำแค่หลักตัวบทในมาตรานั้นๆ/ยกมาใช้เฉพาะหลัก/วรรคที่เกี่ยวข้อง)

ส่วนที่2


วินิจฉัย

-เป็นการปรับบทคือ ปรับหลักกฎหมายในส่วนที่1ให้เข้ากับข้อเท็จจริงที่โจทย์ให้มา การวินิจฉัยนั้นเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นการวัดความเข้าใจของผู้เขียนได้ดีว่านอกจากจะจำตัวบทได้แล้ว ยังสามารถนำหลักกฎหมายนั้นมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย แต่มันก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคนที่เข้าใจแต่ถ่ายทอดออกมาไม่เป็นซึ่งคนประเภทนี้ต้องฝึกเขียนและฝึกพูดให้เพื่อนๆ หรืออาจารย์ช่วยทดสอบบ่อยๆ หรือก็คือ หัดมีน้ำใจช่วยแนะแนวให้เพื่อนๆ บ่อยๆ ก็จะสามารถเป็นนักกฎหมายที่มีการถ่ายทอดเป็นเลิศได้ แถมยังได้ทบทวนความรู้ตัวเองและช่วยเหลือเพื่อนๆได้อีกด้วย

ส่วนที่3

สรุป

-เป็นการตอบคำถามที่ถาม เช่น คำถามถามว่านิติกรรมนั้นมีผลทางกฎหมายอย่างไร ก็ตอบไปว่า นิติกรรมนี้เป็นโมฆะ เท่านั้นเอง ไม่ต้องอธิบายอะไรอีกเพราะเราเขียนไว้ในส่วนที่2หมดแล้ว

หลักการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย

-การเขียนตอบให้ได้คะแนนดีไม่ใช่เพียงแต่ตอบถูกธงคำตอบเท่านั้น การที่อาจารย์ผู้ตรวจจะให้คะแนนเต็มหรือเปล่าขึ้นอยู่กับการจับประเด็น การเรียงลำดับข้อเท็จจริงที่จะนำมาปรับกับหลักกฎหมาย วางอยู่ในขั้นตอนการวินิจฉัยนั่นเอง ข้อสอบกฎหมายมีหลายลักษณะอีกทั้งรูปแบบการเขียนก็แตกต่างกันไปตามระดับการศึกษาและเวลาในการทำข้อสอบ

-แต่กรณีต่อไปนี้จะเป็นการให้เทคนิคการเขียนตอบข้อสอบในระดับปริญญาตรีซึ่งเหมาะสำหรับนิสิตปี1 หรือนิสิตกฎหมายที่ยังอ่อนประสบการณ์ในด้านการเขียนซึ่งการเขียนตอบก็จะเป็นในลักษณะที่เรียกว่า การตอบแบบสามส่วน คือ มีหลักกฎหมาย การวินิจฉัย และสรุป กล่าวคือ

กรณีข้อสอบบรรยาย

-การตอบข้อสอบแบบบรรยายต้องจำในเรื่องของความหมายของคำที่ให้ เพื่อที่จะได้อธิบายความหมายของคำ หรือประโยคที่โจทย์กำหนดมาได้ ซึ่งผู้สอบจะต้องอ่านหนังสือให้มากและละเอียดทั้งจะต้องยกตัวอย่างด้วยในการอธิบายความหมายนั้น จึงจะทำให้ได้คะแนนเต็ม แต่ทั้งนี้การตอบข้อสอบบรรยายก็ไม่ควรโม้มากเกินไป ควรโม้(บรรยาย)ให้มีสาระ ได้ใจความ ไม่เยิ่นเย้อ เพราะถ้าตอบมากไป เป็นน้ำเสียส่วนมากก็จะทำให้อาจารย์ผู้ตรวจไม่ชอบเบื่อ(ขี้เกียจอ่าน)และผลที่ตามมาก็คือขี้เกียจให้คะแนนดีๆด้วย

-ฉะนั้น การตอบข้อสอบบรรยายควรอ่านให้มาก แต่เขียนแบบย่อความ เอาเฉพาะประเด็นที่ถามพร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ถูกต้องและเข้าใจง่าย ท่านก็จะได้คะแนนเต็มแน่นอน

กรณีอธิบาย

EX. สิทธิคืออะไร เหมือนหรือแตกต่างกับหน้าที่อย่างไร

จงอธิบายพอสังเขป

-สิทธิ คือ...........................................................

-ตัวอย่าง เช่น...........................................................

-หน้าที่ คือ ....................................................................

-ตัวอย่าง เช่น .............................................................

-ข้อที่เหมือนกัน คือ 1).....................................................

2).......................................................

-ข้อที่แตกต่างกัน คือ 1)........................................................

2)............................................................

ตัวอย่างข้อสอบอุทาหรณ์
กฎหมายอาญา

EX. นายชมว่าจ้าง นายชิต ให้ไปฆ่า นายใส นายชิตตกลงทำตาม แต่ก่อนที่จะไปฆ่านายชิตเกิดป่วยกะทันหัน นายชิตจึงไปว่าจ้าง นายชื่น ให้ไปฆ่า นายใส แทน เมื่อนายชื่น จ่องเล็งปืนจะยิง นายใส นายชม เกิดสำนึกผิด จึงวิ่งเข้ามายังที่เกิดเหตุและปัดปืน ทำให้ปืนตกลงในน้ำ

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายชื่น นายชิต นายชม ต้องรับผิดฐานใด หรือไม่

ตอบ


หลักกฎหมาย

ประมวลกฎหมายอาญา

ข้อ1.วางหลักว่า

-ผู้ใดฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องระวางโทษ

ข้อ2.วางหลักว่า

-ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่การกระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ข้อ3.วางหลักว่า

-ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ว่าด้วยการ ใช้ บังคับ จ้าง วานหรือด้วยวิธีการอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด ถ้าความผิดไม่ได้กระทำไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ข้อ4.วางหลักว่า

-ถ้าความผิดที่ได้ใช้ ได้กระทำถึงขั้นลงมือกระทำความผิด แต่เนื่องจากการเข้าขัดขวางของผู้ใช้ ผู้กระทำได้กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้ใช้รับผิดเพียงที่บัญญัติไว้ในมาตรา84วรรคสอง

วินิจฉัย

-สำหรับความผิดของนายชื่น การที่นายชื่นได้รับจ้างฆ่านายใสถือได้ว่ามีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อนายชื่นจ้องเล็งปืนจะยิงนายใส เป็นการกระทำขั้นลงมือกระทำความผิดที่ได้กระทำลงจนใกล้ชิดกับผลสำเร็จ อันพึงเห็นได้ประจักษ์แล้ว คือได้กระทำในขั้นสุดท้ายของการจะฆ่านายใสแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะนายชมได้วิ่งมาปัดปืนทิ้ง การฆ่านายใสจึงไม่บรรลุผลสมดั่งเจตนาอันเป็นการพยายามกระทำความผิด ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องระวางโทษ สองในสามของความผิดฐานดังกล่าว ตามหลักกฎหมายข้อ2.ประกอบหลักกฎหมายข้อ1.

-ส่วนกรณีของนายชมที่ไปว่าจ้างนายชิต ให้ฆ่านายใส เป็นการก่อให้นายชิต กระทำความผิดเพราะนายชิต ไม่มีเจตนาจะฆ่านายใสมาก่อน นายชมจึงเป็นผู้ใช้ ตามหลักกฎหมาย ข้อ3. วรรคแรก เช่นเดียวกันกับนายชิตแม้นายชิตจะไปว่าจ้างนายชื่น อีกต่อก็ตาม ก็ถือได้ว่าการที่นายชื่นพยายามฆ่านายใสนั้นเป็นผลโดยตรงมาจากการว่าจ้างของนายชม นายชมจึงมีความผิดตามหลักกฎหมายข้อ3.ประกอบหลักกฎหมายข้อ2.และข้อ1.รับโทษเสมือนตัวการเช่นเดียวกับนายชิต

-แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายชมได้เข้ามาปัดปืนตกน้ำนั้น ทำให้นายชื่นกระทำไปไม่ตลอดเพราะการขัดขวางเองของนายชม ผู้ใช้ เป็นผลให้การฆ่านายใส ไม่บรรลุผล นายชมจึงคงรับผิดเพียงหนึ่งในสามของโทษ ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เสมือนว่าความผิดที่ใช้ยังไม่ได้กระทำลงตาม หลักกฎหมาย ข้อ4.ประกอบหลักกฎหมายข้อ3.วรรคสอง

สรุป

-ดังนั้น

1.นายชื่นมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

2.นายชิตมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยเป็นผู้ใช้

3.ส่วนนายชมมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยเป็นผู้ใช้ แต่รับผิดเพียงหนึ่งในสามของโทษฐานดังกล่าว

กฎหมายแพ่ง/พาณิชย์

EX. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548 นาย จ. ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3)ที่มีข้อกำหนดห้ามโอน ภายใน 10 ปี ในราคา 1,000,000 บาท ให้แก่ นาย อ. ซึ่งขณะนั้นยังเหลือเวลาที่ห้ามโอนอีกเพียง 6 เดือน นาย อ. ได้ชำระราคาในวันจดทะเบียนโอน นาย จ. ส่งหนังสือมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้ นาย อ. ในวันทำสัญญาจะซื้อขายแล้ว และตกลงว่าจะจดทะเบียนโอนให้ นาย อ. ในวันที่ 12 ตุลาคม 2548 ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากพ้นกำหนดห้ามโอน

-แต่เมื่อถึงกำหนด นาย จ. ไม่ยอมโอนที่ดินจะซื้อขายให้นาย อ. นาย อ.ได้เรียกเงินจำนวน 800,000 บาท คืนจาก นาย จ. แต่นาย จ. ไม่มีเงินที่จะคืนให้ทันที จึงได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินจำนวน 800,000 บาท และตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี กำหนดชำระคืน ภายใน 12 กุมภาพันธ์ 2549 ให้ไว้แก่ นาย อ. แต่เมื่อครบกำหนด นาย จ. ไม่ชำระให้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย

-นาย อ.ยื่นฟ้อง นาย จ. ให้ชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยดังกล่าวในวันที่ 17 เมษายน 2549 เนื่องจากวันที่ 12 -14 เมษายน 2549 เป็นวันหยุดสงกรานต์ และวันที่ 15-16 เมษายน 2549 เป็นวันเสาร์ อาทิตย์ นาย จ.ให้การต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดตามฟ้องและคดีโจทก์ขาดอายุความ

คำถาม

-ให้ท่านวินิจฉัย นาย จ. ต้องรับผิดต่อ นาย อ. หรือไม่ และวันที่ นาย อ. ยื่นฟ้องนั้นคดีขาด อายุความหรือไม่

วินิจฉัย

-กรณีที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายระหว่าง นาย อ. กับ นาย จ.ที่ได้กระทำขึ้นนั้น ยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย ถือได้ว่าสัญญาจะซื้อขายมีวัตถุประสงค์ต้องเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายตกเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้นตาม “มาตรา150” ข้างต้น

-เมื่อนิติกรรมเสียเปล่า นาย อ.ก็ยังชำระเงินค่าที่ดินให้ นาย จ.ตามสัญญานั้นอีก ทั้งยังได้รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นห้ามโอนตามกฎหมาย นาย อ.จึงไม่อาจเรียกคืนเงินจำนวนนี้ได้ในฐานลาภมิควรได้ตาม “มาตรา411” แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

-ต่อมาการที่ นาย อ.นำสัญญากู้ยืมเงินที่ นาย จ. ได้ทำไว้กับตนมาฟ้อง เป็นสัญญาที่ นาย จ. ตกลงรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่ นาย อ.ได้ชำระหนี้ฝ่าฝืนกฎหมายชัดแจ้ง ย่อมตกเป็นโมฆะตาม “มาตรา150” นาย อ.ก็ไม่อาจเรียกร้องให้ นาย จ. ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินได้

สรุป

-นาย จ. ไม่ต้องรับผิดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ให้แก่ นาย อ. “(ฎ.1876/2542)”

-ส่วนประเด็นที่ นาย อ.ยื่นฟ้องนั้น คดีขาดอายุความหรือไม่ อันเป็นการฟ้องร้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ ซึ่งตาม “มาตรา419” ห้ามฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ว่ามีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น สำหรับนิติกรรมที่เป็นโมฆะเพราะคู่กรณีมีเจตนาทำสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น ต้องถือว่าบุคคลทุกคนได้รู้ถึงกฎหมายเช่นว่านั้นแล้ว

-เมื่อไม่ปรากฏว่า นาย อ. ได้อ้างว่าตนไม่รู้และไม่อยู่ในฐานะที่อาจจะรู้ได้เช่นนั้น สิทธิในการเรียกคืนทรัพย์ของ นาย อ. ย่อมเกิดขึ้นทันทีที่ นาย จ. ได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย และปรากฏว่า นาย อ. ได้ชำระหนี้ค่าที่ดินให้ นาย จ. วันที่ 12 เมษายน 2548 นาย อ. เมษายน 2549 แต่วันที่ 12-16 เมษายน 2549 เป็นวันหยุดราชการ นาย อ. ย่อมมิสิทธิยื่นฟ้องได้ในวันที่ 14 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นวันแรกที่ศาลเปิดทำการตาม “มาตรา 193/8” คดีจึงไม่ขาดอายุความแต่อย่างใด

ดังนั้น (หลักกฎหมายและข้อเท็จจริงตามคำถามดังกล่าว)คดีที่นาย อ.ยื่นฟ้อง นาย จ. จึงยังไม่ขาดอายุความ(ปรับบทมาตรา150,419,193/8และฎีกา1876/42)

.........ทั้งหมดนี้เป็นเพียงอีกหนึ่งแนวทางเท่านั้น.......

หมายเหตุ วิธีการต่างๆจะมีประสิทธิภาพ หรือประสิทธิผลอยู่ที่ความเพียรของแต่ละคน

ขอให้โชคดีได้ H กันทุกคนนะครับ

ขอให้เพื่อนโชคดีได้ H กันทุกๆคนนะครับ




ช่วยกด Like กด Share จะได้ช่วยกันเผยแพร่ให้พวกๆเรากันเองครับ

คลิกดูแนวข้อสอบอื่นๆ

💌แบบประเมินตนเอง"หลัง" การเรียนวิชากฏหมาย วิ แพ่ง 1 หน่วยที่ 1 พร้อมรู้ผลคะแนนทันที
💌แบบประเมินตนเอง"ก่อน"เรียนกฏหมาย วิ แพ่ง 1 หน่วยที่ 1 พร้อมรู้ผลคะแนนทันที
💌 วิ แพ่ง 1 "จำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ ต่อมาจำเลยผิดสัญญาขอให้จำเลยคืนรถยนต์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา...

ความคิดเห็น