แนวข้อสอบ📚แพ่ง 1 มสธ ความสามารถตาม ปพพ. มาตรา 21 มีโจทย์กรณีตัวอย่างและการวินิจฉัยประกอบ | เล้ง นิติศาสตร์ มสธ

สวัสดีครับเพื่อนๆผู้สนใจวิชากฏหมาย ผม พี่เล้ง นิติศาสตร์ มสธ ครับ 

กินข้าวกินปลากันแล้วนะครับ ถ้ายังก็แสดงว่ายังไม่หิว...หากว่าหิวก็หาอะไรมารองท้องก่อนนะ ไม่งั้นเดี๋ยวได้ใช้บัตรทองแน่ๆ เพราะโรคกระเพาะมาเยี่ยมน่ะสิ (พูดซะน่ากลัวเลย! 555)

วันนี้จะนำมาตรา 21 ของกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งว่าด้วยเรื่องความสามารถของบุคคลมาฝาก 

ที่พิเศษก็คือ เราจะมีการอธิบายรายละเอียดของบทบัญญัติเพื่อประกอบความเข้าใจให้ง่ายขึ้นด้วยครับ




ปพพ. ลักษณะ 2 บุคคล ในหมวด 1 บทบัญญัติเกี่ยวกับบุคคลธรรมดา ครับ โดยยังแบ่งส่วนๆอีกทั้งหมด 4 ด้วยกัน คือ

ส่วนที่ 1 สภาพบุคคล

ส่วนที่ 2 ความสามารถ

ส่วนที่ 3 ภูมิลำเนา

ส่วนที่ 4 สาบสูญ

วันนี้จะกล่าวถึงส่วนที่ 2 ซึ่งว่าด้วยเรื่องความสามารถครับ

ความสามารถ

มาตราที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของบุคคลธรรมดาจะมีทั้งหมด 18 มาตราด้วยกัน คือ มาตราที่ 19 ถึง มาตรา 36

บทบัญญัติมาตรา 21
 
    ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

Section 21.

   For the doing of a juristic act, a minor must obtain the consent of his legal representative. All acts done by him without such consent are voidable unless otherwise provided.

ต่อบทบัญญัติมาตรา 21 เช่นว่านั้น จะขออธิบายเพื่อความเข้าใจความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว การที่จะสามารถเข้าใจบทบัญญัติเราต้องรู้ความหมายของคำศัพท์เกี่ยวกับกฏหมายกันก่อนก็คือ

ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย เป็นบุคคลที่หย่อนความสามารถเพราะอายุตามบทบัญญัติของกฏหมาย ร่างกาย หรือสติปัญญา ทำให้ขาดความสามารถในการจัดการกิจการหรือทรัพย์สินของตนเอง หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่กิจการที่ตนจะพึงสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง

อนึ่ง ผู้ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ (มาตรา 19)หรือผู้ที่ทำการสมรสแล้วแม้อายุจะยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ (มาตรา 20) บุคคลเช่นว่านั้นย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์

เทคนิคการจำความเป็นผู้เยาว์ อายุ กับ การสมรส การแต่งงานไม่ใช่สมรส ฉะนั้น การแต่งงานจึงไม่มีผลต่อการเป็นภาวะของผู้เยาว์

นิติกรรม คือ การใดๆ(การแสดงเจตนา)อันทำลงโดยชอบด้วยกฏหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ(มาตรา 149)

ความยินยอม หมายถึง การแสดงเจตนาของผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้เสียหายที่จะเป็นการยินยอมให้ผู้อื่นมาก่อให้เกิดผลเสียต่างๆ เช่น ความเสียหายแก่ร่างกาย เสรีภาพ ทรัพย์สิน สิทธิ ฯ ของผู้เสียหายเป็นต้น

อนึ่ง ความยินยอมต้องเกิดขึ้นก่อนหรือขณะทำนิติกรรมจึงจะมีผลตามมาตรานี้

ผู้แทนโดยชอบธรรม หมายถึง บุคคลซึ่งทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์หรือให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการที่ผู้เยาว์จะทำ นิติกรรม ซึ่งโดยปกติได้แก่บิดา มารดา เว้นแต่ไม่มีบิดา มารดา ก็จะได้แก่บุคคลอื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายในการปกครองทำหน้าที่ดูแลผู้เยาว์ (มาตรา 1590)

โมฆียะ หมายถึง ที่อาจเป็นโมฆะได้เมื่อมีการบอกล้าง หรือมีผลสมบูรณ์เมื่อมีการให้สัตยาบัน

โมฆียกรรม แปลว่า นิติกรรมซึ่งอาจบอกล้าง เพิกถอน หรือให้สัตยาบันได้  ถ้าบอกล้างก็เป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก  ถ้าให้สัตยาบันก็มีผลสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก

หลักการจำผลของโมฆียะกรรม

ถ้าบอกล้างแล้วจะให้สัตยาบันไม่ได้
ถ้าให้สัตยาบันแล้วจะบอกล้างไม่ได้

ตัวอย่างโจทย์ทีี่ต้องใช้หลักฏหมายมาตรา 21

นางสาวแดงอายุ 19 ปีแต่งงานกับนายดำอายุ 35 ปีโดยพ่อแม่นางสาวแดงอนุญาต ต่อมาอีก 8 เดือน นางสาวแดงเลิกกับนายดำ หลังจากนั้น 3 วันนางสาวแดงไปซื้อรถยนต์คันหนึ่งราคา 800,000 บาทโดยที่พ่อกับแม่ไม่ทราบ 

วันต่อมาภายหลังซื้อมาแล้วพ่อของนางสาวแดงได้สร้างโรงจอดรถให้นางสาวแดง ต่อมาอีก 1 เดือน พ่อเห็นว่าราคารถที่นางสาวแดงซื้อแพงเกินไปจึงต้องการเอาไปคืนกับบริษัทที่ซื้อรถมา จากข้อเท็จจริงนี้ คืนได้หรือไม่

ตอบ

  ตาม ปพพ. วางหลักไว้ว่า (มาตรา 19) บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์ หรือบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ (มาตรา 20) ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448 ( มาตรา 21) ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใดๆที่ผู้เยาว์ทำลงโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

  ตามปัญหา นางสาวแดงยังไม่บรรลุนิติภาวะเพราะว่าอายุยังไม่ครบ 20 บริบูรณ์และการแต่งงานตามประเพณีไม่ใช่การสมรส ดังนั้นนางสาวแดงจึงยังเป็นผู้เยาว์อยู่ นางสาวแดงไปซื้อรถยนต์โดยที่พ่อแม่ไม่ทราบ

  ต่อมาพ่อของนางสาวแดงได้สร้างโรงจอดรถให้ การสร้างรถเป็นการยอมรับโดยปริยายหรือการให้สัตยาบัน แต่กรณีนี้ไม่เป็นการก่อให้เกิดสัตยาบันที่ชอบด้วยกฏหมายเนื่องจากเป็นการสร้างให้กับฝ่ายตนเอง ไม่ได้กระทำสัตยาบันต่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวกำหนดที่แน่นอน(มาตรา 178) 

ต่อมาพ่อของนางสาวแดงต้องการให้นำรถไปคืนบริษัท ประสงค์จะบอกล้าง ดังนั้นสามารถกระทำได้เนื่องจากสัตยาบันไม่เกิด

สรุป สามารถนำรถยนต์ไปคืนได้ตามวินิจฉัยข้างต้น

💘

เรียนกฏหมายให้สนุกต้องฝึกตีโจทย์เพื่อนำมาวินิจฉัยตามข้อกฏหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง 

สำหรับวันนี้ทางเราหวังว่าความรู้ด้านตัวบทมาตราต่างๆโดยเฉพาะมาตรา 21 ทีเรานำมาฝากกันจะป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆทุกๆคนเลยครับ

แล้วพบกับกฏหมายในมาตราอื่นๆอีกเช่นเคยนะครับ คอยติดตามหรือว่าจะส่งข้อความมาสอบถามหรือคำแนะนำต่างๆมาได้ตามกล่อง comment ด้านท้ายได้เลยครับ

ขอให้เพื่อนโชคดีได้ H กันทุกๆคนนะครับ




ช่วยกด Like กด Share จะได้ช่วยกันเผยแพร่ให้พวกๆเรากันเองครับ

ความคิดเห็น